ภาคีเครือข่ายผู้ตรวจการก่อสร้าง และ ต่อต้านการทุจริตเชิงป้องกัน (ภตป.)
Independent Inspector Alliance for Construction & Anti - Corruption Preventive Approach (IACONPA)
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.

 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

www.shutterfly.com

 

  ประเภทของสัญญาก่อสร้างที่ตรวจสอบการทุจริตยากที่สุด  
  สัญญาการก่อสร้างมีหลายชนิด หลายประเภท แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของงาน
แต่โดยทั่วไปแล้วสัญญาการก่อสร้างที่ใช้ในทางราชการจะมีอยู่เพียงไม่กี่ประเภทแต่ละประเภทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป
ตามประเภทของงานก่อสร้าง เช่น งานก่อสร้างสะพาน   งานก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ  งานก่อสร้างอาคาร  งานก่อสร้างถนน  เป็นต้น


สัญญาประเภทเหมารวม (LUMP SUM OR FIXED – PRICED CONTRACT)

ลักษณะของสัญญาประเภทนี้นิยมใช้กันมาก คือ ผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดที่ระบุในสัญญาในวงเงินที่คงที่จำนวนหนึ่ง
ส่วนระยะเวลาของการจ่ายเงินอาจจะแบ่งเป็นงวด ๆ ตามผลงานที่แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ ไปตามลักษณะงานที่ทำ หรือ ตามคาบเวลา เช่น 30 วัน
รวมทั้งจำนวนเงินหักเก็บเอาไว้เพื่อประกันผลงาน

สัญญาประเภทนี้เหมาะกับงานที่มีแบบก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งแบบ รายการวัสดุที่จะใช้ พร้อมค่าแรง และ ค่าดำเนินการ

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ เช่น
ทราบงบการดำเนินการแน่นอน  ได้งานครบถ้วนถูกต้องตามข้อกำหนดและแบบ สามารถตรวจสอบผลงานและการจ่ายเงินได้ง่าย และ ฯลฯ


ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น 
เสียเวลารอให้แบบและข้อกำหนดเสร็จเรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้
การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไขแบบทำได้ลำบาก  ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบในการเสี่ยง ทำให้ราคาที่ตกลงอาจจะสูงกว่าที่ควรเป็น 
การแบ่งงวดจ่ายเงินตามผลงานที่แล้วเสร็จเป็นงวด ๆ นั้นทำได้ยากเพราะไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงที่ทำได้

สัญญาประเภทราคาต่อหน่วย (UNIT PRICE CONTRACT)

เป็นสัญญาที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ทำได้จริงทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปโดยง่ายใกล้เคียงปริมาณงานที่ทำได้จริงมากที่สุด
โดยที่ราคาต่อหน่วยจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่จำนวนหน่วยงานที่ทำได้อาจเปลี่ยนแปลงได้  

ข้อที่ควรจะระวังของสัญญาการก่อสร้างประเภทนี้ก็คือ เกณฑ์การวัด
(METHOD OF MEASUREMENT) ปริมาณงานที่ทำได้จริงในสนาม
จะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนก่อนที่จะทำสัญญากันว่าจะวัดอย่างไร เช่น
การวัดปริมาณคอนกรีตที่ใช้ต้องตกลงกันว่าจะวัดที่ใด จะวัดจากจำนวนที่รถส่งปูนมาส่ง หรือ จะวัดจากแบบเฉพาะที่เทได้จริง
เพราะปริมาณวัสดุที่ใช้จะไม่เท่ากัน เป็นต้น


ข้อดีของสัญญาแบบราคาต่อหน่วย เช่น
สามารถเริ่มทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ปริมาณงานที่แน่นอน 
การจ่ายเงินคืนแก่ผู้รับจ้างจะใกล้เคียงกับผลงานที่ทำได้จริงการเพิ่มลดปริมาณงานทำได้ง่าย

ข้อเสียของสัญญาแบบราคาต่อหน่วย เช่น
งบประมาณการดำเนินการอาจคลาดเคลื่อนได้  หากคำนวณปริมาณงานก่อนทำสัญญาผิดพลาด
อาจมีผลทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่สมควร  และ
หากรายการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ปรากฏในตารางปริมาณและราคา ไม่ครอบคลุมครบถ้วนตามแบบ
จะทำให้มีปัญหาในการตกลงราคากันใหม่ และต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้น 
นอกจากนี้ยังจะเสียเวลาในการตรวจสอบผลงานที่ทำได้จริง อาจจะต้องใช้ผู้ควบคุมงานที่มีความรับผิดชอบสูงอีกด้วย

สัญญาประเภทคิดค่าใช้จ่ายจริงบวกค่าป่วยการ (COST – PLUS FIXED FEE CONTRACT)

ลักษณะของสัญญาก่อสร้างประเภทนี้ก็คือผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดตามที่ระบุในสัญญา
โดยจะเบิกเงินคืนตามที่ได้จ่ายไปจริงในระหว่างการก่อสร้าง บวกกับเงินค่าป่วยการที่คงที่อีกจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า  
สัญญาแบบนี้เหมาะกับงานที่เจ้าของงานต้องการให้งานเสร็จในเวลาอันสั้นในวงเงินที่จำกัดไว้

ข้อดีของสัญญาแบบนี้ เช่น
สามารถทำสัญญาหรือเริ่มงานได้โดยไม่ต้องมีแบบละเอียดที่สมบูรณ์
ผู้รับเหมาจะช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าก่อสร้างเพราะไม่ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าใดก็ตามผู้รับเหมาจะได้ค่าป่วยการเท่าเดิม 
ส่วนค่าดำเนินการที่ประหยัดได้จะเป็นของเข้าของงานทั้งหมด

ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น
งบประมาณจะคลาดเคลื่อนมากเพราะไม่รู้ว่าจริงๆมีมูลค่าเท่าใด 
เจ้าของงานต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเข้มงวดทุกขั้นตอนตั้งแต่การสั่งซื้อวัสดุ การเบิกจ่ายวัสดุไปใช้
วิธีการนำวัสดุไปใช้จะต้องประหยัดไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น 
ค่าก่อสร้างจะไม่ถูกใช้อย่างมีประโยชน์โดยแท้จริงเพราะผู้รับเหมาจะไม่ช่วยประหยัด
ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง ซื่อตรง ไม่หารายได้จากร้านค้าที่สั่งวัสดุ เช่น ถ้าสั่งของมากจะได้ส่วนแบ่งมาก เป็นต้น

สัญญาประเภทคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดบวกเงินเพิ่มพิเศษ
(COST – PLUS WITH GUARANTEED MAXIMUM AND
INCENTIVE)

ลักษณะสัญญาประเภทนี้ คือ ผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในสัญญาในวงเงินจำนวนหนึ่งก่อน
แต่ผู้รับจ้างอาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง โดยไม่ทำให้เจ้าของงานเสียผลประโยชน์
ส่วนกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องนำมาเฉลี่ยกันทั้งสองฝ่ายตามข้อตกลง
เจ้าของงานอาจให้ผู้รับจ้างระบุด้วยว่า ค่าจ้างสูงสุดจะเป็นเท่าใดตลอดระยะเวลาโครงการ
และ ผู้รับจ้างอาจให้เจ้าของงานระบุด้วยว่า
ผู้รับจ้างจะได้เงินเท่าใดเมื่อทำงานได้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ เช่น
สามารถทำสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องมีแบบรายละเอียดมากนักสามารถออกแบบไป สร้างไป แก้แบบไปด้วยก็ได้ 
เจ้าของงานมีสิทธิในการแก้ไขแบบมากขึ้นและตลอดเวลาในระหว่างการก่อสร้าง 
เจ้าของงานและผู้รับเหมาไม่ต้องทะเลาะหรือโต้เถียงกันมากนัก

ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น
เจ้าของงานต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเข้มงวดมิฉะนั้นงบประมาณจะบานปลายมาก 
ค่าใช้จ่ายที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้ง 2 ฝ่าย จะยุ่งยากในการตรวจสอบว่ามีทีมาอย่างไร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

สัญญาประเภทมีรางวัลตอบแทนและเสียค่าปรับ (BONUS/PENALTY,TIME AND CONPLETION)

ลักษณะของสัญญาประเภทนี้ก็คือจะกำหนดค่าก่อสร้างและเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอน
โดยมีเงื่อนไขว่า  ถ้าเสร็จก่อนหรือหลังเวลาที่ตกลงกันไว้ จะมีการให้รางวัลตอบแทนหรือปรับแล้วแต่กรณี   
และถ้าสามารถหาประโยชน์จากการที่เร่งงานให้เสร็จเร็วขึ้นจะต้องนำผลประโยชน์ส่วนนั้นมาแบ่งกันด้วย    เป็นต้น
เช่น การก่อสร้างห้างสรรพสินค้า ฯ

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ เช่น
เป็นการกระตุ้นให้ผู้รับเหมาทำงานโดยเร็วภายใต้การควบคุมที่ดีจะทำให้ประหยัดเวลาในการออกแบบและก่อสร้างซึ่งอาจจะได้ใช้ประโยชน์เร็วขึ้น

ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงานแตกต่างไปจากเดิมที่ตกลงกันไว้
อาจจะมีข้อถกเถียงเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

สัญญาประเภทออกแบบ ก่อสร้าง และ จัดหาทุนให้ด้วย TURN KEY หรือ  DESIGN  AND CONSTRUCT  CONTRACT

ลักษณะของสัญญาประเภทนี้ คือ ผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ ก่อสร้าง และจัดหาทุนดำเนินการให้เองทั้งหมด
แลกกับการได้รับสัมปทานสิ่งที่ก่อสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 ปี เป็นต้น
สัญญาแบบนี้เหมาะกับโครงการของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลไม่มีเงินที่จะดำเนินการเอง
แต่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างเพื่อบริการประชาชน เช่น โครงการทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นต้น

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ เช่น
สามารถเริ่มงานได้ทันที  รัฐไม่ต้องลงทุนก่อน  ประชาชนได้ประโยชน์จากการได้ใช้งานเร็วขึ้น

ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น
มีราคาแพงมากเพระต้องเพิ่มค่าเสี่ยงภัยสูงมาก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
และเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่ายเพราะจะเพิ่มค่าก่อสร้างเข้าไปเท่าใดก็ได้

สัญญาประเภทแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆหลายๆส่วน ( Divided Contract )

มักนำมาใช้กับงานก่อสร้างถนนซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นช่วงๆได้
แต่งานอาคารไม่ค่อยนิยมแม้ว่าในงานอาคารจะมีช่างหลากหลายประเภทมากกว่า


ข้อดีของสัญญาแบบนี้ เช่น
สามารถตัดผู้รับเหมาหลักออกไปได้ ไม่ให้เอางานไปขายให้ผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งซึ่งงบประมาณจะหายไปบางส่วน
ผู้รับเหมาแต่ละช่วงของสัญญาจะได้งบประมาณงานค่าก่อสร้างเต็มตามสัญญา  ป้องกันการสมยอมราคากันได้อีกวิธีหนึ่ง
บริษัทเล็กๆสามารถเข้าแข่งขันประมูลงานแข่งกับบริษัทใหญ่ๆได้

ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ เช่น
มักจะมีปัญหาตรงรอยต่อของสัญญาแต่ละสัญญามักจะเกี่ยงกันว่าใครจะทำ เช่น
ตรงช่วงรอยต่อของถนนแต่ละช่วงมักจะมีปัญหาในการบดอัด
เพราะจะไม่มีการบดอัดถนนข้ามไปอีกสัญญาหนึ่งถ้าหากว่าตกลงกันค่าใช้จ่ายกันไม่ได้ 
การควบคุมงานจะยุ่งยากเพราะต้องใช้คนควบคุมงานมากตามสัญญาในกรณีที่มีการก่อสร้างพร้อมกัน
ต้องใช้ที่ปรึกษาควบคุมงานที่มีความเชี่ยวชาญและความชำนาญสูงซึ่งมีราคาค่าจ้างสูงตามไปด้วย

 
  example of structure of contract chart of AOT/AAT


รองศาสตราจารย์รังสรรค์ วงษ์บุญ

วันที่ 7 มิถุนายน 2556
 
     



Use examples to explain your points, always backup a comment with a fact.



rangsonw@gmail.com www.facebook.com/rangsonw  ; www.twitter.com/rangsonw

All materials on this website is copyright and may not be republished in any form without written permission.

ปรับปรุงแก้ไข ศุกร์, 07 มิถุนายน 2556 08:18:33