สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและวิศวกรรม  รังสรรค์ วงษ์บุญ
Office of Law and Engineering Consultants
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.


นานาสาระเกี่ยวกับเรื่องบ้านพักอาศัย

0001 ข้อแนะนำในการเลือกซื้อบ้านใหม่  เรื่องที่ควรตรวจสอบก่อนซื้อบ้าน 6 ประการ จาก www.homedd.com
วงเงินการปล่อยกู้จากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบระดับราคาบ้านที่จะสามารถซื้อได้โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ที่ฝ่ายให้บริการสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ หรือตามเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย หรือตามเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย หรือตามเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน ซึ่งโดยปกติสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ประมาณ 25-30 เท่าของอัตราเงินเดือนผู้กู้ ในกรณีที่ผู้ซื้อมีผู้กู้ร่วมด้วยอัตราส่วนเพิ่มของวงเงินกู้ ก็จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเดือนของผู้กู้ร่วม ทั้งนี้สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาปล่อยกู้เกินกว่าวงเงินขั้นต่ำที่กำหนด โดยพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น อาชีพ ความมั่นคง ความก้าวหน้า ความสามารถในการผ่อนชำระ อาชีพเสริมที่รู้แหล่งที่มาของรายได้ เป็นต้น

ข้อมูลโครงการ
โดยแบ่งแยกตามทำเล ระดับราคา และประเภทที่อยู่อาศัยที่สนใจ จากสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูโครงการจริง

ข้อมูลทางราชการ
เช่น แนวเวนคืน โครงข่ายสาธารณูปโภค-สาธารณูปการที่มีอยู่ และจะเกิดขึ้นในอนาคตข้อมูลบางอย่างจะมีประโยชน์ต่อการอยู่อาศัย เช่น การก่อสร้างทางด่วน การตัดถนน เป็นต้น

ผังเมืองรวม
ควรหลีกเลี่ยงโครงการที่อยู่ในเขตผังเมืองประเภทพื้นที่อุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม หรือที่พักอาศัยหนาแน่นมาก เพราะพื้นที่เหล่านี้จะเป็นเขตที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น และมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดมลภาวะ ปัญหาการจราจร ฯลฯ

สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น
เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ฯลฯ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้บริการ จึงควรตรวจสอบระยะเวลา และความสะดวกในการเดินทาง

เส้นทางการเดินทาง และโครงข่ายการจราจร
เช่น ข้อมูลการเดินรถสาธารณะ เส้นทางรถโดยสารสาธารณะจำนวนสายเดินรถ ช่วงเวลาการให้บริการ โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางที่จำเป็นต้องใช้ประจำระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และโรงเรียนลูกหรือข้อมูลทางด่วน ถนนซอยต่างๆ ปริมาณการจราจร จุดที่มีปัญหา และเส้นทางลัด เป็นต้น


0002 ข้อแนะนำในการเลือกซื้อบ้านใหม่  เรื่องที่ควรตรวจสอบก่อนเลือกโครงการ จาก www.homedd.com
 ตรวจสอบการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน
โดยทั่วไปผู้ประกอบการที่มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยเพื่อจัดจำหน่ายตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการรายนั้นๆ จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน ตามท้องที่ที่ดินจัดสรรนั้นตั้งอยู่ อันเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ เช่น ถนน ทางเท้า ท่อระบายน้ำ ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการคุ้มครองผู้ซื้อในส่วนหนึ่งโดยผู้ซื้อมีสิทธิ์ขอตรวจสอบใบอนุญาตจัดสรรที่ดินได้จากผู้ประกอบการ หรือขอตรวจสอบได้ที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดที่โครงการนั้นตั้งอยู่

ผู้ซื้อควรตรวจสอบว่าโครงการได้รับการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร
ตามแบบแปลนเดียวกับที่ได้กระทำสัญญา และโดยเฉพาะในรายที่ผู้ประกอบการมีการแยกทำสัญญาขายที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารไว้เป็นคนละฉบับ ผู้ซื้อควรให้ผู้ประกอบการได้แนบแบบแปลนที่ขออนุญาตไว้ท้ายสัญญาที่กระทำระหว่างกัน

ความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ เช่น สอบถามจากผู้อยู่อาศัยในโครงการเก่าที่ผู้ประกอบการดำเนินการมาแล้วในอดีต หรือตรวจสอบจากรายชื่อผู้ประกอบการที่ถูกขึ้นบัญชีดำไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ขนาดและผังโครงการ
ว่ามีความเหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย ปัจจุบันคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ต้องจัดให้มีในที่ดินจัดสรรไว้ระดับหนึ่ง ว่าแต่ละขนาดโครงการควรมีพื้นที่เว้นว่าง และสาธารณูปโภค-สาธารณูปการอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ส่วนวิธีการจัดวางผังก็ต้องพิจารณาไปตามที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตเข้ามา ฉะนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบการวางผังที่เหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย และดูไม่แออัดมากจนเกินไป

พื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง
หรือปรับระดับให้สูงกว่าถนนสาธารณะนอกโครงการ การตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีน้ำท่วมขังหรือไม่ ผู้ซื้ออาจสังเกตได้จากเสาไฟฟ้า หรือรั้วบ้านดั้งเดิมในบริเวณนั้น หากพื้นที่ดังกล่าวเคยมีน้ำท่วมขังก็มักปรากฏ รอยคราบน้ำหรือคราบตะไคร่น้ำ บริเวณเสาไฟฟ้าหรือรั้วบ้านให้สามารถสังเกตเห็นได้

ความจำเป็นในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง
เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ ฯลฯ ว่ามีความจำเป็นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะบวกเป็นต้นทุนบ้านที่เพิ่มขึ้น สโมสรหรือสระว่ายน้ำนั้น ส่วนใหญ่จะถูกจัดไว้นอกเหนือจากสาธารณูปการตามที่กฏหมายกำหนด แต่ผู้ประกอบการจะนับรวมอยู่ในต้นทุนการดำเนินโครงการ เมื่อภายหลังผู้ประกอบการได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนิติบุคคลโครงการบ้านจัดสรร (ถ้ามี) ก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ซื้อบ้านต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งก่อนและหลังการเข้าอยู่อาศัย

วิธีการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ
ปัจจุบันการผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน มีทั้งดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) และดอกลอยตัว (Float Rate) ผู้ซื้อควรตรวจสอบกับสถาบันการเงิน ว่าอัตราดอกเบี้ยแบบใดที่เหมาะสมกับอาชีพ ความสามารถในการผ่อนชำระ รวมถึงเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นในภายหลังต่อการเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบนั้น

ภาระผูกพันของที่ดิน หรือโครงการที่มีต่อสถาบันการเงิน
ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะขอสินเชื่อในการดำเนินโครงการโดยนำที่ดินที่นำมาทำการจัดสรรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ฉะนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เมื่อถึงระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภาระผูกพันนี้ยังคงอยู่ หรือสามารถปลอด จำนองได้ทันที

ตรวจสอบการจดภาระจำยอมของถนนที่เข้าออกโครงการ
หากเป็นไปได้ควรเลือกโครงการที่ติดกับถนนสาธารณะปัจจุบันมีโครงการจัดสรรที่ดินเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้อยู่ติดถนนสาธารณะ และผู้ประกอบการต้องขอจดภาระจำยอมขอผ่านทางจากเจ้าของที่ดินรายอื่น ซึ่งหากการจดภาระจำยอมดังกล่าวมีเงื่อนไขหรือระยะเวลา ก็อาจจะก่อปัญหากับผู้ซื้อในภายหลังได้

การให้บริการสาธารณูปโภคของรัฐ
เช่น การให้บริการไฟฟ้าประปา หรือพื้นที่จัดเก็บขยะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโครงการเป็นจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกเขตการให้บริการของการประปานครหลวง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขออนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในโครงการ ผู้ซื้อควรตรวจสอบว่า ในกรณีเช่นนี้ค่าน้ำจะจัดเก็บอย่างไร และใครเป็นผู้ดูแลดำเนินการ

พื้นที่โดยรอบโครงการ
โรงงานบางแห่งมีการดำเนินการเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ฉะนั้นเมื่อเข้าไปดูโครงการในตอนกลางวันก็อาจจะไม่ได้กลิ่น หรือควันอันเกิดจากการเดินเครื่องจักร จึงควรตรวจสอบให้แน่ชัดทั้งสภาพโดยรอบบริเวณโครงการ ทั้งในช่วงเวลากลางวัน และในช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงเสียง และกลิ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

ตรวจสอบไม่ให้โครงการอยู่ใกล้ศาสนสถานเกินไป
โดยเฉพาะเมรุเพราะนอกจากจะเกิดสภาพ และกลิ่นควันไม่พึงประสงค์แล้ว ในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาศาสนสถานเหล่านี้จะมีคนพลุกพล่านอันจะก่อปัญหาต่อการเดินทางสัญจร

ตรวจสอบว่าโครงการระบายน้ำลงพื้นที่ใด
หากไม่ใช่สำรองสาธารณะประโยชน์ หรือพื้นที่ที่ถูกจัดไว้ให้ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำก็อาจส่งผลต่อปัญหาการระบายน้ำในอนาคตหากมีการก่อสร้างโครงการเพิ่มมากขึ้น

ใส่ใจกับการเดินทางในช่วงเวลาค่ำคืน
คนในบ้านอาจมีเหตุสุดวิสัยทำให้ต้องเดินทางกลับหรือออกจากบ้านในช่วงเวลาค่ำคืน จึงควรพิจารณาความสะดวกในการเดินทางโดยเฉพาะการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะรวมถึงควรพิจารณาลักษณะพื้นที่ว่าในช่วงเวลาค่ำคืนเปลี่ยวหรือไม่

เวลาในการเดินทางไปที่ทำงานและโรงเรียนลูก
ทั้งเช้า และเย็น ผู้ซื้อควรทดลองเดินทางทั้งในช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงเวลาเร่งด่วน

ตรวจสอบถึงชุมชนในอนาคต
มีผู้ซื้ออยู่อาศัยเป็นจำนวนไม่น้อยที่คิดเพียงซื้อบ้าน แต่ลืมใส่ใจปัญหาที่จะเกิดตามมาในภายหลัง พึงระลึกเสมอว่าการซื้อที่อยู่อาศัยมิใช่เป็นเพียงซื้อบ้านเท่านั้น แต่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนในอนาคต ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้โดยพิจารณาจากวิธีการบริหารดูแลชุมชนในโครงการเก่าที่ผู้ประกอบการดำเนินการมาแล้วในอดีต

ที่มา : คู่มือ เลือกซื้อบ้าน
เขียนโดย : บัณฑิต จุลาสัย และยุวดี ศิริ


0003 ข้อแนะนำในการเลือกซื้อบ้านใหม่  ข้อแนะนำอื่นๆ จาก www.homedd.com
ค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ นอกเหนือจากงบประมาณของ บ้านและที่ดิน
ค่าตกแต่งภายในบ้าน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 35% ของราคาบ้านครับ
ค่าติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในบ้าน เช่น ปั๊มป์น้ำ แท้งค์ น้ำ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ
ค่าจัดสวน หรือต่อเติมต่างๆเช่น มุ้งลวด เหล็กดัด กันสาด ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คุณจำเป็นต้อง สำรองเงินสด สำหรับใช้จ่ายเมื่อรับ โอนบ้านเรียบร้อยแล้วครับ

แบบบ้านอย่างไรที่เหมาะสมกับคุณ
เรื่องของแบบบ้านนั้นเป็นเรื่องความสวยความงาม แล้ว แต่ความชอบครับ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีหลักง่ายๆ ดังนี้ครับ

รูปแบบภายนอกของบ้าน
แล้วแต่ความชอบส่วนตัว แต่บางส่วนของบ้าน ก็ต้องดูดีๆ ครับ ไม่ใช่เอาแต่สวยเท่านั้น เช่น ชายคา ถ้าสั้นเกินไปก็ อาจมีปัญหาเรื่องฝนในภายหลัง แม้บ้านสวยถูกใจ แต่ชาย คาสั้น ก็อาจต้องมาต่อเติมภายหลังได้นะครับ

พื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน
ดูจากแบบแปลนหรือบ้านตัวอย่างในแบบบ้านที่ชอบว่า มี พื้นที่ใช้สอยตรงตามความต้องการหรือไม่ เช่น จำนวน ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องพักผ่อน ฯลฯ

ตำแหน่งแปลงของบ้าน
การวางตำแหน่งแปลงของบ้านนั้น มีผลต่อทิศทางของ แดดและลมซึ่งจะทำให้บ้านหลังที่คุณเลือกซื้ออยู่สบาย หรือไม่ บ้านที่อยู่สบายและถูกต้องตามทิศทางลม ต้อง หันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ หรือใต้ ครับ 2 ทิศนี้ถือว่าดีที่สุดสำหรับบ้าน เพราะจะทำให้บ้านรับลมเย็นสบาย ตลอดทั้งปี เหมาะสมกับภูมิอากาศ เมืองไทยที่สุดครับ

ประเภทบ้านที่เหมาะสม
ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านทาวน์เฮ้าส์ หรือ คอนโดมิเนียม จะเป็นประเภทใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความ ต้องการของคุณครับ ทั้งนี้คุณต้องดูรูปแบบการใช้ชีวิต ของคุณและครอบครัวประกอบ การตัดสินใจ รวมถึงงบประมาณ และทำเลด้วย พร้อมข้อแนะนำ เบื้องต้นดังนี้ครับ

งบประมาณของบ้านที่จะซื้อ

คุณต้องตั้งงบประมาณของบ้านที่จะซื้อก่อนครับ จะได้ ง่ายต่อการเลือกข้อมูลเพื่อพิจารณา ได้อย่างถูกต้องครับ หลักเกณฑ์ในการตั้งงบประมาณก็ง่ายๆตามนี้ครับ งบ ของบ้านที่จะซื้อ ควรอยู่ที่ 3 เท่า ของรายได้ต่อปีของคุณ และความสามารถในการผ่อนชำระ ค่าบ้านกับ ธนาคารต่อเดือนจะอยู่ที่ ประมาณ 30% ของรายได้ต่อเดือน ครับ (ไม่รวมผ่อนรถ และอื่นๆ)

ทำเลที่ตั้งของบ้านหลังใหม่

ทำเลที่ตั้งของบ้าน เป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะขึ้นอยู่กับ การเดินทางในทุกวันของคุณ และการใช้ชีวิตประจำวัน ของคุณในทำเลนั้นๆ การเลือกทำเล นอกจากจะต้อง สะดวกและ คุ้นเคยสำหรับตัว คุณแล้ว ต้องแวดล้อมไปด้วยสิ่ง อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ตอบ สนองการ ใช้ชีวิตด้วยครับ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้าง สรรพสินค้า สถานีตำรวจ ฯลฯ

เจ้าของหรือผู้ประกอบการโครงการจัดสรรนั้น

บ้านไม่เหมือนสินค้าประเภทอื่น เพราะ ในชีวิตของคนๆ หนึ่งนั้น อาจซื้อบ้านได้เพียงครั้งเดียว บ้านหลังนี้จึงไม่ได้ อยู่เพียงแค่คุณ แต่ยังรวม ถึงอนาคตของคนที่คุณรัก ซึ่ง จะเติบโตภายในบ้านหลังนี้ด้วย ปัจจุบันการซื้อ บ้านไม่ใช่ เพียงแค่ได้ตัวบ้านเท่านั้น แต่คุณยังต้องได้คุณภาพชีวิต ด้วย ความรับผิดชอบ ของเจ้าของโครงการ หรือผู้ ประกอบการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกิด ขึ้น หรือไม่ มีหลักในการพิจารณาดังนี้ครับ

สภาพโครงการสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการวาง ผังอย่างเป็นระเบียบ

ควรสอบถามค่าสาธารณูปโภคของโครงการที่คุณจะ ซื้อก่อนนะครับ ว่าครอบคลุมอะไรบ้าง เช่น ค่าบริการ เก็บขยะ ค่าน้ำ-ไฟส่วนกลาง (ไฟถนน,ซอย,ทางเดินใน โครงการ ,ลิฟท์ ฯลฯ) ค่าดูแล สวนส่วนกลาง ค่ายาม รักษาการณ์ เป็นต้น

งบประมาณในการซื้อบ้านใหม่โดยประมาณ คือ ควรอยู่ที่ 3 เท่าของรายได้ต่อปี


0004 สรุปการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว จาก www.homedd.com
เดิมคนต่างด้าวจะได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินในประเทศไทยก็โดยอาศัยสนธิสัญญากับประเทศไทยที่กำหนดให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงตามประมวลกฎหมายที่ดิน และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประเทศไทยได้เคยทำสนธิสัญญาไว้กับประเทศต่าง ๆ รวม 16 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิสส์ เยอรมัน เดนมาร์ก นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย เบลเยี่ยม สวีเดน อิตาลี ญี่ปุ่น พม่า โปรตุเกส ปากีสถาน ต่อมาได้ยกเลิกสนธิสัญญากับประเทศดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2513 ปัจจุบันไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศใดที่ระบุให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยอีก

ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96ทวิ กำหนดให้ คนต่างด้าวสามารถซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ไม่เกินหนึ่งไร่ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2545 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

1. นำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี
2. ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
3. ต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนี้
        3.1 การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตร รัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินหรือดอกเบี้ย
        3.2 การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
        3.3 การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
        3.4 การลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
4. ที่ดินที่คนต่างด้าวจะได้มาต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร
5. คนต่างด้าวผู้ได้รับอนุญาตต้องใช้ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองและครอบครัวโดยไม่ขัดต่อศีลธรรม จารีตประเพณี หรือวิธีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น
6. ถ้าคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะต้องจำหน่ายที่ดินในส่วนที่ตนมีสิทธิภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น
7. ถ้าคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ได้มามาซึ่งที่ดินตามนัยดังกล่าวไม่ได้ใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันจดทะเบียนการได้มา อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น

นอกจากกรณีดังกล่าว คนต่างด้าวอาจได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยได้รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมได้ โดยที่ดินที่ได้รับมรดกเมื่อรวมกับที่ดินที่มีอยู่แล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัย มีได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรม ไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่ ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น

สำหรับคนต่างด้าวที่มีคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทยไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย คู่สมรสที่เป็นคนสัญชาติไทยสามารถซื้อที่ดินได้โดยผู้ซื้อและคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวจะต้องยืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งหมดเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ซื้อที่มีสัญชาติไทย มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่นำมาหาได้ร่วมกัน

ค่าธรรมเนียม
1. กรณีซื้อที่ดินที่อยู่ในโครงการจัดสรรที่ดิน เสียค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน (หมดเขตเดือนธันวาคม 2546)
2. กรณีซื้อที่ดินทั่วไป นอกจากกรณีตามข้อ 1 เสียค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมิน

ภาษีอากร
เป็นไปตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร


0005 มารู้จักเอกสารสิทธิเกี่ยวกับ "ที่ดิน" กันดีกว่า จาก www.homedd.com
ที่ดิน นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มีราคา และมีประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างยิ่ง เช่น ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ในการเกษตรกรรม ใช้ในการอุตสาหกรรม ใช้เป็นหลักประกัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ ที่ดินยังเป็นเครื่องแสดงฐานะความเป็นอยู่ ของแต่ละคนด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงล้วนพยายามใฝ่หา ให้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นของตนเอง แม้ปัจจุบันที่ดินจะมีราคาแพงสักเพียงใดก็ตาม ก็จะพยายามทำงานให้ได้มาเพื่อจะได้แลกซื้อที่ดิน เป็นของตนเองสักแปลง

แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑)
แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) คือใบแจ้งการครอบครองที่ดินเป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองเป็นผู้แจ้งว่า ตนครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่ (แต่ปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค.๑ อีกแล้ว) ส.ค.๑ ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิที่ดิน เพราะไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้เพียงแต่เป็นการแจ้งการครอบครองที่ดินของราษฎรเท่านั้น ดังนั้นตามกฎหมาย ที่ดินที่มี ส.ค.๑ จึงทำการโอนกันได้เพียงแต่แสดงเจตนาสละการครอบครองและไม่ยึดถือพร้อมส่งมอบให้ผู้รับโอนไปเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นการโอนกันโดยชอบแล้ว ผู้มี ส.ค.๑ มีสิทธินำมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข) ได้ 2 กรณี คือ
    กรณีที่ ๑ นำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ กรณีนี้ทางราชการจะเป็นผู้ออกให้เป็นท้องที่ไป โดยจะมีการประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า
    กรณีที่ ๒ นำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข) เฉพาะราย คือกรณีที่เจ้าของที่ดินมีความประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ก็ให้ไปยืนคำขอ ณ สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่เฉพาะการออกโฉนดที่ดินนี้ จะออกได้ในพื้นที่ที่ได้สร้างระวางแผนที่สำหรับออกโฉนดที่ดินไว้แล้วเท่านั้น

ใบจอง (น.ส. ๒)
ใบจอง คือหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว  ซึ่งใบจองนี้จะออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งทางราชการจะมีประกาศเปิดโอกาสให้จับจองเป็นคราว ๆ ในแต่ละท้องที่และผู้ต้องการจับจองควรคอยฟังข่าวของทางราชการ

ผู้มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือนต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบจองและจะต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๗๕ ของที่ดินที่จัดให้ ที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก เมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธินำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข) หรือโฉนดที่ดินได้แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. และ น.ส.๓ ข)
    หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. และ น.ส.๓ ข) หมายความว่าหนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว
    น.ส. ๓ ออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินทั่ว ๆ ไป ในพื้นที่ที่ไม่มีระวาง มีลักษณะเป็นแผนที่รูปลอย ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน หรือออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ (นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออก)
    น.ส. ๓ ก. ออกในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ โดยมีการกำหนดตำแหน่งที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศ (นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้)
    น.ส. ๓ ข. ออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ และรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแล้ว (เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้ออก)

ใบไต่สวน (น.ส. ๕)
ใบไต่สวน คือหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงให้ทราบว่าได้มีการสอบสวนสิทธิในที่ดินแล้ว สามารถจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ใบไต่สวนไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ แต่สามารถจดทะเบียนโอนให้กันได ้
ถ้าที่ดินมีใบไต่สวนและมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แสดงว่าที่ดินนั้นนายอำเภอได้รับรองการทำประโยชน์แล้ว เมื่อจดทะเบียนโอนจะต้องจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก่อน แล้วจึงมาจดแจ้งหลังใบไต่สวน แต่ถ้าใบไต่สวนมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) หรือไม่มีหลักฐานที่ดินใด ๆ และเป็นที่ดินที่นายอำเภอยังไม่รับรองการทำประโยชน์ จะจดทะเบียนโอนกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นการจดทะเบียนโอนมรดก

โฉนดที่ดิน
โฉนดที่ดิน คือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งออกให้ตามประมวลกฎหมายที่ดินปัจจุบัน นอกจากนี้ยังรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ซึ่งออกให้ตามกฎหมายเก่า แต่ก็ถือว่ามีกรรมสิทธิ์เช่นกัน

ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างสมบูรณ์เช่น มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดิน มีสิทธิจำหน่าย มีสิทธิขัดขวางไม่ให้ผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ประโยชน์ของโฉนดที่ดิน
-
ทำให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินยึดถือไว้เป็นหลักฐาน
- ทำให้เกิดความมั่นคงในหลักกรรมสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน
- ใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของตนทั้งต่อรัฐและในระหว่างเอกชนด้วยกัน
- ทำให้รู้ตำแหน่งแหล่งที่ตั้ง ตลอดจนขอบเขตและจำนวนเนื้อที่ของที่ดินแต่ละแปลงได้ถูกต้อง
- ทำให้สามารถป้องกันการบุกรุกขยายเขตครอบครองเข้าไปในที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ที่สงวนหวงห้าม ที่สาธารณประโยชน์ และที่ดินที่ทางราชการได้กันไว้เป็นเขตป่าไม้
- ทำให้สามารถระงับการทะเลาะวิวาท การโต้แย้ง หรือแย่งสิทธิในที่ดินหรือการรุกล้ำแนวเขตที่ดินซึ่งกันและกัน
- ทำให้ปัจจัยพื้นฐานในการผลิตทางเศรษฐกิจ มีความมั่นคงและมีผลเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย
- ทำให้เกิดความรักและความห่วงแหนที่ดินของตน มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาที่ดินของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ใช้เป็นหลักฐานแสดงทุนทรัพย์หรือหลักประกันในการขอสินเชื่อ และกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตและรายได้เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น
- ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันบุคคลเข้าทำงาน ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ฯลฯ
- การตรวจสอบหลักฐานสำหรับที่ดิน สำหรับที่ดินที่เป็นโฉนดกระทำได้โดยสะดวกรวดเร็วเป็นประโยชน์แก่บุคคลที่ประสงค์จะจำหน่าย จ่าย โอน เนื่องจากการโอนที่ดินที่มีโฉนดที่ดินไม่ต้องประกาศ เว้นแต่มรดก

การทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- การทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เช่น การนำที่ดินไปซื้อขาย ยกให้ แลกเปลี่ยน จำนอง ขายฝาก ฯลฯ จะต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่
- การทำนิติกรรมเกี่ยวกับทีดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข) จะต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินตั้งอยู่ การทำนิติกรรมนั้น จึงจะมีผลตามกฎหมาย เว้นแต่ได้ยกเลิกอำนาจนายอำเภอเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จะต้องไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

คำเตือน
เอกสารสำคัญทั้งหมดนี้แม้จะแสดงถึงการเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่นแล้วก็ตาม ถ้าหากท่านปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน กล่าวคือ ถ้าเป็นที่ดินที่โฉนดที่ดิน ปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 10 ปี และที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้นานเกิน ๕ ปีติดต่อกัน ที่ดินดังกล่าวจะต้องตกเป็นของรัฐตามกฎหมาย หรือถ้าหากปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองโดยสงบเปิดเผย โดยมีเจตนาเอาเป็นเจ้าของโดยท่านไม่เข้าขัดขวาง สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเป็นเวลา ๑๐ ปีติดต่อกันบุคคลที่เข้าครอบครองนั้นก็จะมีสิทธิไปดำเนินคดีทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองได้ และที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข) ใช้เวลาแย่งการครอบครองเพียง ๑ ปีเท่านั้น ท่านก็จะเสียสิทธิ ดังนั้นเมื่อที่ดินของท่านมีเอกสารสำคัญดังกล่าวอยู่แล้ว ก็ควรทำประโยชน์และดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ดินก็จะเป็นของท่าน และเป็นมรดกที่มีค่าให้แก่ทายาทของท่านต่อไป
 


0006 สิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม  จาก www.homedd.com
เมื่อคุณตัดสินใจจะซื้อคอนโดมิเนียม สิ่งที่คุณควรคำนึงถึงก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ทำเล, งบประมาณ และขนาดพื้นที่ของห้องที่คุณต้องการซื้อ หลายท่านอาจจะเลือกคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้กับที่ทำงาน บางท่านเลือกใกล้สถานศึกษา ตลอดไปจนถึงห้างสรรพสินค้า หรือ โรงพยาบาล สำหรับงบประมาณนั้นโดยปกติแล้วก็ขึ้นอยู่กับราคาของทำเล ที่ดิน การก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวก ข้อพิจารณาเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อคอนโด อย่างไรก็ตามการตรวจสอบรายละเอียดของตัวอาคาร และเรื่องเอกสารต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรที่จะละเลย นอกเหนือไปจากทำเล และ งบประมาณ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง

สิ่งที่คุณควรตรวจสอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดมิเนียม

1. ขนาดพื้นที่
ถ้าคุณให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ห้องมาก คุณก็ควรจะนำตลับเมตรไปวัดด้วยตัวคุณเองเลย ว่าตรงตามที่ผู้ขายประกาศไว้หรือไม่ เมื่อคุณทราบขนาดพื้นที่ที่ถูกต้องแล้ว คุณก็ยังสามารถนำมาคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อตารางเมตรได้อีกด้วย

2. ที่จอดรถ
คุณควรตรวจสอบดูว่าพื้นที่ ที่จอดรถของคอนโดมิเนียมนั้นๆ มีเพียงพอกับจำนวนยูนิตทั้งหมดหรือไม่

3. การก่อสร้าง
คุณอาจจะสอบถามจากบริษัทที่ดูแลคอนโดมิเนียมได้ ว่าวัสดุที่ใช้ก่อสร้างมีความแข็งแรงคงทนเพียงไร เป็นวัสดุชนิดไหน นอกจากนี้วัสดุที่กั้นห้องมีความหนามากน้อยเพียงไร มีเสียงเล็ดลอดจากเพื่อนห้องดังไหม หรือห้องที่อยู่เหนือคุณขึ้นไป มีเสียงดังรึเปล่า ในกรณีที่มีการเดินแรงๆ

4. ระบบสาธรณูปโภค และ รักษาความปลอดภัย
ทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมานี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะเข้าอยู่อาศัย ระบบน้ำไฟ เป็นอย่างไร ในกรณีที่อยู่ชั้นสูงๆ น้ำประปาไหลแรงเพียงพอหรือไม่ หากเกิดไฟดับ มีระบบไฟฉุกเฉินเพียงพอหรือไม่ การรักษาความปลอดภัย มียามตลอด 24 ชม. ระบบการจัดเก็บขยะ การจัดและรับส่งไปรษณีย์ ตรวจสอบว่ามีการติดตั้งเครื่องตรวจควัน (smoke detector) หัวฉีดน้ำ (sprinkle) ในตัวอาคารและห้อง บันไดหนีไฟมีขนาดได้มาตรฐาน หรือไม่ นอกจากนี้ ตรวจสอบดูว่าลิฟท์โดยสาร มีเพียงพอกับจำนวนคนที่พักอยู่หรือไม่ เวลาการเปิดปิดลิฟท์เป็นอย่างไร

5. สัญญา
โดยปกติแล้ว ผู้ซื้อทั่วๆ ไปจะละเลยต่อรายละเอียดของสัญญา เนื่องจากมีเนื้อหาค่อนข้างมากและเป็นตัวบทกฎหมายส่วนใหญ่ หากจะให้ดีคุณควรมีนักกฎหมายคอยให้คำแนะนำ เพื่อทราบถึงสิทธิ ผลประโยชน์ ที่คุณจะได้รับหรือเสีย ตัวอย่างเช่น หากคอนโดมินเนียมที่คุณซื้อแล้ว เกิดเพลิงไหม้เสียหายทั้งตึก คุณจะได้รับค่าชดใช้หรือไม่ เพียงใด

6. ทำเลของห้อง
ผู้ซื้อส่วนใหญ่ลืมที่จะคิดไปว่า ห้องที่คุณเลือกแล้วนั้น นอกจากวิวทิวทัศน์ดีแล้ว แต่แสงแดดที่ส่องเข้าห้องคุณมีผลกระทบกับคุณหรือไม่ บางคนไม่ชอบที่จะให้แดดส่องเข้าห้องในตอนบ่าย เพราะจะทำให้ห้องของคุณร้อนมาก หรือห้องบางคนไม่มีแสงเข้าเลยทั้งช่วงเช้าและบ่าย

7. อายุ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อายุมีอิทธิพลกับการเลือกคอนโดมิเนียมได้อย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ lifesytle ของผู้เข้าอยู่เป็นสำคัญ คอนโดมิเนียมที่คุณสนใจอยู่นั้น ผู้เข้าอาศัยอาจจะเป็นวัยรุ่นซะเป็นส่วนใหญ่ หากคุณมีครอบครัว หรือ คุณต้องการความเงียบสงบ ชุมชนนั้นเหมาะกับคุณหรือไม่ คุณจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับชุมชนได้หรือไม่ อย่าลืมว่าคอนโดมิเนียม ก็เป็นชุมชนเล็กๆ ของคุณ เช่นเพื่อนห้องที่ติดกัน

8. ระเบียบเงื่อนไขการอยู่อาศัยของคอนโดมิเนียม
ระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตามเราควรที่จะรู้ถึงข้อควรปฎิบัติและข้อห้ามเหล่านั้นด้วย โดยทั่วๆ ไปแล้ว บางคอนโดมิเนียมจะไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยง ประเภท สุนัข หรือ แมว มาเลี้ยง บางสถานที่ไม่อนุญาตให้ทำอาหารภายในห้อง โดยใช้เตาแก๊ส บางแห่งไม่อนุณาตให้ขนของ หรือต่อเติม ห้องในวันเสาร์และอาทิตย์

9. นิติบุคคลอาคารชุด
คงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ทุกคอนโดมิเนียมจะต้องมีนิติบุคคลอาคารชุด และ คุณก็ควรที่จะต้องทราบถึงระเบียบต่างๆ ของนิติบุคคลอาคารชุด เช่น ค่าส่วนกลางเป็นเท่าไหร่ ต่อเดือน คอนโดมิเนียมบางแห่งราคาถูก แต่อาจจะต้องจ่ายค่าส่วนกลางแพง (ค่าส่วนกลางเป็นเงินที่เจ้าของ ทุกห้องจะต้องชำระให้กับนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อที่จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายในการบริหาร และ บริการในส่วนต่างๆ ที่เป็นส่วนกลาง เช่น เงินเดือนยาม ค่าไฟฟ้าทางเดิน ค่าไฟฟ้าของลิฟท์ ค่าบำรุงซ่อมแซมต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าของห้องชุดทุกห้อง)


0007 คำแนะนำผู้บริโภคจาก สคบ.เกี่ยวกับการซื้อคอนโดมิเนียม จาก www.homedd.com
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ข้อควรปฏิบัติที่ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา ผู้บริโภคควรทราบก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกซื้ออาคารชุด เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายหรือถูกเอาเปรียบที่อาจเกิดขึ้นได้

ศึกษาสภาพแวดล้อมและผลงานของผู้ประกอบธุรกิจ
ตรวจสอบว่า ทางราชการมีโครงการที่จะดำเนินการใดในบริเวณที่ดินนั้นหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามมิให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงๆ หรือบริเวณดังกล่าวรัฐกำลังจะดำเนินการเวนคืนในอนาคต เป็นต้น โดยตรวจสอบได้ที่เทศบาล หรือสำนักงานโยธาจังหวัดที่โครงการจัดสรรตั้งอยู่

สถานที่ตั้งโครงการ สะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน ไม่มีมลภาวะ เช่น ฝุ่นละอองหรือเสียงรบกวนต่างๆ หรือมีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจทำให้ท่านเดือดร้อนได้ในภายหลัง

ตรวจสอบผลงาน หากผู้ประกอบธุรกิจได้เคยดำเนินการมาแล้วก็ต้องพิจารณาดูว่า โครงการที่ดำเนินการมาแล้วนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ทำตามโครงการหรือสัญญาครบถ้วนหรือไม่ มีการส่งมอบงานหรือโอนบ้านตามกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ อาจสอบถามได้จากผู้ซื้อรายก่อน

การตรวจสอบก่อนซื้อห้องชุดในอาคารชุด
ผู้บริโภคที่ประสงค์จะซื้อห้องชุดต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเช่นเดียวกัน อย่ารีบร้อนหรือด่วนตัดสินใจซื้อ ห้องชุดที่โฆษณาขายกันอยู่ในบ้านเรา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้

กรณีที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้างอาคาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบดังนี้
ตรวจสอบใบอนุญาตก่อสร้างอาคารว่าได้รับอนุญาตหรือยังไม่ได้รับอนุญาต ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

ตรวจสอบชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แผนผังแสดงเขตที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุด เลขที่ของโฉนดที่ดินตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ และสถานภาพของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดหรือไม่ ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคล ได้จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับทางราชการถูกต้องแล้วหรือไม่ มีทุนจดทะเบียน ทุนที่ชำระแล้วเท่าไร ใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด แล้วแต่กรณี

ตรวจสอบว่าที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระผูกพันกับนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินหรือไม่ อย่างไร คือนำไปจำนองไว้กับธนาคารหรือบริษัทเงินทุกหลักทรัพย์หรือไม่นั่นเอง ท่านตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน หรือสำนักที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

ต้องสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าซื้ออาคารชุดซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการที่เป็นส่วนร่วม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค่าภาษีอากร เป็นต้น สอบถามได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

ต้องสอบถามหรือขอคำรับรองจากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดด้วยว่าจะเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จเมื่อใด

กรณีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้บริโภคควรต้องตรวจสอบ ดังนี้

ตรวจสอบว่า ได้มีการจดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ มีเลขที่ของทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ เลขที่ของทะเบียนอาคารชุดเท่าไร ใครเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด แต่ถ้าหากไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัด แล้วแต่กรณี

ตรวจสอบ เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ที่ดินของโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดิน และที่ตั้งอาคารชุดว่าตรงกันกับที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ ตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดแล้วแต่กรณี

ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ และสถานภาพของผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จาก กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด แล้วแต่กรณี

ตรวจสอบว่าที่ดินจะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระผูกพันกับนิติบุคคล หรือสถาบันการเงิน หรือไม่อย่างไร คือนำไปจำนองไว้กับธนาคารหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือไม่นั่นเอง ท่านตรวจสอบได้จากกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด แล้วแต่กรณี

ตรวจสอบรายการและขนาดของทรัพย์สินที่ใช้เป็นทรัพย์ส่วนบุคคล และทรัพย์ส่วนกลางว่าตรงกันกับที่ได้มีการโฆษณาไว้หรือไม่ ตรวจสอบได้จากที่ตั้งโครงการและผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

สอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าซื้ออาคารชุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดจะต้องร่วมกันออกตามส่วน เช่น ค่าบริการที่ส่วนรวม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับกับทรัพย์สินส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เป็นต้น ขอทราบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัด อำเภอ หรือสำนักงานที่ดินเขตที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

สำหรับรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น ทางราชการได้ออกกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องบอกกล่าวหรือระบุในคำโฆษณาแล้ว แต่ยังไม่ควรมั่นใจว่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงและเพียงพอที่จะตัดสินใจซื้อ หรือเข้าทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ ควรที่จะได้ตรวจสอบกับทางราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความรอบคอบและจะได้ไม่ถูกหลอกลวงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ

การตรวจสอบหนังสือสัญญา

เมื่อผู้บริโภคตกลงใจหรือตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน ที่ดินจัดสรรหรืออาคารชุดแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือทำสัญญากับผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เพราะผู้ซื้อจะต้องลงชื่อผูกพันในหนังสือสัญญากับผู้ขาย การเอารัดเอาเปรียบของผู้ขาย หรือความเสียเปรียบของผู้ซื้ออาจเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่าง จะอยู่ที่หนังสือสัญญาฉบับนี้ ดังนั้น ก่อนที่ผู้บริโภคจะลงชื่อในหนังสือสัญญาจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องเกรงใจผู้ขายต้องตรวจสอบข้อความในหนังสือสัญญาให้ละเอียด และทำความเข้าใจให้แจ้งชัดก่อนที่จะลงลายมือชื่อของตนในหนังสือสัญญาฉบับนั้น ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจก็ต้องหาผู้รู้มาให้คำแนะนำ หรือถ้าสงสัยในเรื่องใดก็ต้องสอบถามผู้ขายให้เป็นที่ตกลงกันโดยแน่นอนเสียก่อน มิฉะนั้นอาจตกเป็นผู้เสียเปรียบในการทำสัญญาได้ เช่น

ห้องที่ทำสัญญาถูกต้องตรงตามตัวอย่างที่โฆษณาหรือไม่ จะต้องตรวจในรายละเอียดด้วย เพราะมีผู้ดำเนินการบางรายอาจทำแบบบ้านอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำสัญญาได้มีการเปลี่ยนแปลงรายการในรายละเอียดบางประการซ่อนไว้ หากไม่ตรวจสอบจะไม่ทราบ

ขนาดของห้องที่ตกลงทำสัญญาซื้อนั้นถูกตรงตามที่ผู้ซื้อจองตามผังจัดสรรหรือไม่

ระยะเวลาการเริ่มต้นก่อสร้าง และระยะเวลาการสร้างห้องแล้วเสร็จส่งมอบให้ผู้ซื้อได้เมื่อใด ควรต้องมีกำหนดไว้ในสัญญาด้วย

หากในสัญญามีกำหนดเบี้ยปรับไว้กรณีผู้ซื้อผิดนัดเช่นนี้ ก็ควรกำหนดเบี้ยปรับไว้ในสัญญาด้วยกรณีผู้ขายผิดนัด

นอกจากนั้นควรมีกำหนดเวลาประกัน กรณีห้องชำรุดบดพร่องไว้ด้วยว่าจะให้ผู้ขายปฏิบัติอย่างไร


0008 กรรมสิทธิ์ในห้องชุดในส่วนของบุคคลต่างด้าว  จาก www.homedd.com
บุคคลต่างด้าวจะมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดในประเทศไทยได้ด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 และฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2542) คือ

ต้องเป็นบุคคลต่างด้าวตามมาตรา 19 บุคคลต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ต้องเป็นบุคคลกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
นิติบุคคตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 97 และมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว ซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อชำระค่าห้องชุด

อาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวและหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด

กรณีอาคารชุดนั้น ตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเทศบาล หรือเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง และมีที่ดินที่ตั้งอาคารชุดรวมกับที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับเจ้าของร่วมทั้งหมดไม่เกินห้าไร่

คนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ 100% ของห้องชุดทั้งหมด โดยมีกำหนดระยะเวลาที่คนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ 100% ไม่เกินวันที่ 28 เมษายน 2547 เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คนต่างด้าวมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เพียง 49% ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมด แต่สิทธิ์ของคนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวที่ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไว้ไม่เกิน 49% ก่อนวันที่ 28 เมษายน 2547 ยังคงมีอยู่ตามเดิม

ที่มา: กรมที่ดิน

สรุปการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าว

เดิมคนต่างด้าวสามารถมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดหรือซื้อห้องชุดในอาคารชุด แต่ละอาคารได้ไม่เกินอัตราร้อยละสี่สิบของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมด ในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อห้องชุดของคนต่างด้าว โดยกำหนดให้คนต่างด้าวสามารถมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ไม่เกินอัตราร้อยละสี่สิบเก้าของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น ในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดได้ และยังได้กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ดังนี้

อาคารชุดนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเทศบาล หรือเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เช่น เมืองพัทยา
ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดรวมกับที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมทั้งหมดไม่เกินห้าไร่
อาคารชุดนั้นจะต้องเป็นอาคารชุดที่มีห้องชุดไม่น้อยกว่าสี่สิบห้องชุด
อาคารชุดนั้นจะต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่คนต่างด้าวขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด
อาคารชุดนั้นจะต้องไม่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร
คนต่างด้าวต้องใช้ห้องชุดโดยไม่ขัอต่อจารีตประเพณีหรือวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2542 ให้ยกเลิก หลักเกณฑ์การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า และให้คนต่างด้าวซึ่งได้ห้องชุดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวและคนต่างด้าวซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อเนื่องจากคนต่างด้าว ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นต่อไปได้แม้ว่าจะเกินร้อยละสี่สิบเก้าก็ตาม
 


0009 ความปลอดภัยในอาคารสูง  จาก www.homedd.com
อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ ที่จะก่อสร้างใหม่ ต้องมีมาตราการด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ได้กำหนดให้อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น
ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น Sprinkle System
ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น
ระบบท่อยืนที่เก็บน้ำสำรอง และหัวรับน้ำดับเพลิง
เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ
บันไดหนีไฟ และทางหนีไฟทางอากาศ
ระบบไฟส่องสว่างฉุกเฉินในเส้นทางหนีไฟ
ระบบป้องกันฟ้าผ่า
มีถนนรอบอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร
ต้องมีช่องทางเฉพาะสำหรับบุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยได้ทุกชั้น
ต้องมีลิฟต์สำหรับใช้ดับเพลิงที่จอดได้ทุกชั้น และต้องมีระบบควบคุมพิเศษ สำหรับพนักงานดับเพลิงใช้ขณะเกิดเพลิงไหม้โดยเฉพาะ

กฎกระทรวงฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) เป็นการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) เพื่อปรับปรุงให้อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษให้มีระบบความปลอดภัยดียิ่งขึ้น เช่น
เพิ่มพื้นที่ดาดฟ้าสำหรับหนีไฟทางอาคารจากเดิมกว้าง - ยาว ด้านละ 6 เมตรเป็น กว้าง - ยาว ด้านละ 10 เมตร
ต้องติดตั้งแบบแปลนอาคารแสดงตำแหน่งห้องต่างๆ ที่โถงหน้าลิฟต์ทุกชั้น
ช่องโล่งภายในอาคาร ที่สูงตั้งแต่ 3 ชั้นไป ต้องติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควันไม่ให้แพร่กระจายไปยังชั้นต่างๆ
ทำผนังปิดล้อมโถงบันไดหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟแพร่กระจายไปตามชั้นต่างๆ
กำหนดให้อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่ก่อสร้าง หรือขออนุญาตก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2533) ใช้บังคับ ซึ้งเดิมไม่อนุญาตให้ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารให้สามารถดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ได้ภายในขอบเขตที่จำกัด โดยไม่เพิ่มความสูง และเนื้อที่อาคารเกินค่าที่กำหนดต้องจัดให้มีระบบความปลอดภัย ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการป้องกันอัคคีภัยเพิ่มเติม

กฎกระทรวงฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540) กำหนดให้
โครงสร้างหลัก เช่น เสาและคานของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะต้องมีอัตราทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนพื้นต้องมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
กระจกที่ใช้ทำผนังภายนอกอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ ต้องเป็นกระจกชนิด 2 ชั้น มีคุณสมบัติในการป้องกัน การบาดของเศษกระจก และมีวัสดุคั่นกลางกระจกไม่ให้เศษกระจกหลุดออกมาเมื่อกระจกแตก

กฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) กำหนดให้ อาคารหอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา สนามกีฬา ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ อาคารจอดรถ ฯลฯ และอาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวใน 10 จังหวัด คือ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ต้องออกแบบให้โครงสร้างอาคาร สามารถด้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้  

อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะที่ได้ก่อสร้างแล้วก่อนที่จะมีกฎกระทรวง กำหนดมาตราการความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยใช้บังคับ ได้ออกกฎกระทรวง
ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ ฯลฯ แก้ไขอาคารให้มีระบบการป้องกันอัคคีภัยเท่าที่จำเป็นจริงๆ คือ

ติดตั้งบันไดหนีไฟ
จัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนผังอาคารไว้ตามห้องโถง หรือหน้าลิฟต์ทุกชั้นของอาคาร
ติดตั้งเครื่องดับเพลิงมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
ติดตั้งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น
ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างฉุกเฉินในเส้นทางหนีไฟ
ติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า

ที่มา: กรมที่ดิน


0010 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการประกันภัยบ้าน  จาก www.homedd.com
การประกันภัยบ้านเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันทรัพย์สินที่คุณรัก ประกันภัยบ้านจะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านของคุณ และสิ่งที่อยู่ภายในบ้าน นอกจากนี้สามารถชดใช้ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นหากเขาเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บจากทรัพย์สินของคุณ

การประกันภัยบ้านสามารถสรุปออกเป็น 2 หัวข้อสำคัญ คือ ความคุ้มครอง และระดับหรือมูลค่าของความคุ้มครองที่เหมาะสม เจ้าของบ้านที่กู้ซื้อบ้านมักจะเข้าใจว่าประกันที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินบังคับให้ท่านซื้อ จะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในบ้านท่านได้ แต่ความเป็นจริงแล้วผู้ให้ท่านกู้ยืมเงินต้องการปกป้องเพียงแต่ตัวอาคารบ้านเรือนเท่านั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือคุณต้องดูความต้องการของคุณเป็นหลักว่าอยากจะปกป้องทรัพย์สินประเภทไหนบ้าง

ประกันภัยบ้านป้องกันมากกว่าแค่บ้านของคุณ

การตัดสินใจซื้อบ้านเป็นการลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต หากปราศจากการประกันภัยบ้านอาจนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ลองนึกถึงภาพเหตุการณ์ เหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนที่คุณรัก

บ้านของคุณถูกไฟไหม้ ประกันภัยไม่ได้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านคุณ เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, และ เครื่องเสียงเครื่องโปรดของคุณ
เพื่อนบ้านถูกสุนัขของคุณกัด ได้รับบาดเจ็บ คุณถูกเรียกร้องค่าเสียหาย
พายุพัดต้นไม้บ้านคุณล้มทับหลังคาพัง ทรัพย์สินของคุณได้รับความเสียหาย
บ้านของคุณถูกงัด ทรัพย์สินมูลค่าหลายแสนบาทถูกขโมย

ดังนั้นการประกันภัยบ้านสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้คุณได้ ไม่เพียงแต่ตัวอาคารของบ้านที่คุณพักอาศัย แต่ยังครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินที่คุณรัก อย่างไรก็ตาม หลายคนยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและคิดว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ท่านกู้ยืมเงินก็ได้บังคับให้ท่านเหล่านี้ซื้อประกันภัยไปแล้ว ซึ่งประกันเหล่านี้ครอบคลุมเฉพาะตัวบ้านและมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินที่ท่านกู้ยืม

โดยปกติแล้ว การซื้อประกันภัยบ้านควรครอบคลุม 3 สิ่งต่อไปนี้ คือ ตัวบ้านหรืออาคารที่คุณพักอาศัย ทรัพย์สินภายในบ้านของคุณ และบุคคลที่ 3
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านของคุณ
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ประกันภัยบ้านทุกที่จะต้องมีให้คุณ เช่นในกรณีที่เกิดเหตุวินาศภัยกับ บ้านคุณ หรือภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ หรือ น้ำท่วม
การสูญเสียทรัพย์สินภายในบ้าน
การประกันภัยบ้านสามารถที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินของคุณได้ เช่นเฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า อย่างไรก็ตามหลายบริษัทประกันภัยจะมีการจำกัดขอบเขตราคาและประเภทของทรัพย์สินที่จะรับประกัน
การประกันภัยบุคคลที่ 3
เป็นการประกันภัยที่ปกป้องตัวคุณและคนในครอบครัว หรือถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากสิ่งของของคุณ ไปยังบุคคลอื่น

ป้องกันสิ่งมีค่ากับการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ : บ้านของคุณ
โดยปกติประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านสามารถแยกได้หลายประเภท แต่มี 3 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับบ้านของคุณ คือ ประกันภัยบ้าน ประกันภัยธุรกิจขนาดย่อม (โฮมออฟฟิศ) และประกันภัยสำหรับผู้เช่า

ประกันภัยบ้าน

การซื้อบ้านเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต การประกันภัยบ้านจึงเป็นสิ่งที่ สำคัญเพราะคุ้มครองไม่เพียงแต่ตัวบ้านที่คุณอาศัย แต่ปกป้องถึงตัวคุณ คนในครอบครัว บุคคลอื่น และยังรวมถึงทรัพย์สินภายในบ้านอีกด้วย ดังนั้นการเลือกซื้อประกันควรเลือกซื้อประเภทที่ครอบคลุมถึงภัยต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ประกันภัยธุรกิจขนาดย่อม
การประกันภัยที่คุ้มครองธุรกิจของคุณ จากภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก และสถานประกอบการของคุณ

ประกันภัยสำหรับผู้เช่า
ถ้าคุณคิดว่าการเช่าบ้าน หรือ อพาร์ทเม้นท์ ไม่จำเป็นจะต้องมีประกัน คุณอาจจะคิดผิด เพราะการประกันภัยชนิดนี้สามารถปกป้องการสูญเสียของทรัพย์สินของคุณได้ ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้าไปถึงเฟอร์นิเจอร์


0011 วิธีขั้นต้นที่สามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัย  จาก www.homedd.com
คุณสามารถลดค่าเบี้ยประกันภัยบ้านของคุณได้หลายวิธี ส่วนลดของเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการตั้งแต่ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านไปจนถึงระยะจากบ้านคุณถึงสถานีดับเพลิง นี่คือ 10 วิธีขั้นต้นที่คุณสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันของคุณได้

สำรวจหลายๆบริษัทประกันภัย
คุณสามารถตรวจสอบค่าเบี้ยประกันภัยได้จากหลายบริษัทเพื่อนำมาเปรียบ เทียบ และ อาจสอบถามจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องถึงบริษัทประกันภัยที่ใช้อยู่

เลือกซื้อประกันภัยบ้านและประกันภัยรถจากบริษัทผู้ให้ประกันเดียวกัน
หลายบริษัทประกันภัยจะให้ส่วนลดกับผู้ที่ซื้อทั้งประกันภัยบ้านและประกันภัยรถ

พิจารณาถึงค่าเบี้ยประกันเมื่อคุณกำลังจะซื้อบ้านใหม่
ถ้าคุณกำลังคิดจะซื้อบ้าน ควรพิจารณาถึงค่าเบี้ยประกันที่จะเกิดขึ้น การเลือกซื้อบ้านใหม่และติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยและปลอดภัยสามารถที่จะ ช่วยลดค่าเบี้ยประกันได้

ประกันภัยเฉพาะบ้าน ไม่ใช่ที่ดิน
ในขณะที่บ้านและทรัพย์สินของคุณเสี่ยงต่อการเกิดโจรกรรม ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยอันตรายต่างๆ ที่ดินไม่ใช่ ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องรวมมูลค่าของที่ดินในการตัดสินใจเลือกซื้อประกัน

เพิ่มระบบการป้องกันและรักษาความปลอดภัย
การติดตั้งระบบสัญญาณกันขโมย กุญแจนิรภัย หรือ สปริงเกอร์ อาจจะช่วยลดค่าเบี้ยประกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท ถ้าคุณมีความต้องการจะซื้อหรือติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้คุณอาจปรึกษาบริษัทประกันภัยเพื่อขอคำแนะนำได้

ประกันภัยหมู่
ธุรกิจหรือองค์กรมักจะมีการตกลงกับบริษัทประกันภัยอยู่ ซึ่งรวมถึงส่วนลดสำหรับพนักงานหรือสมาชิกในองค์กรนั้นๆ

อย่าเปลี่ยนบริษัทประกันภัยบ่อย
โดยปกติคุณจะได้ลดค่าเบี้ยประกันสม่ำเสมอทุกๆปี ถ้าคุณใช้บริการกับบริษัทผู้ให้ประกันเป็นเวลานาน

งดการสูบบุหรี่
หลายบริษัทประกันภัยมีการลดค่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการทำให้เกิดไฟไหม้

หมั่นตรวจสอบรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยทุกๆปี
คุณควรตรวจสอบรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยให้ชัดเจน เพื่อที่สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกๆปี เช่น คุณได้ขายชุดเฟอร์นิเจอร์ไปแล้ว คุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าเบี้ยที่ครอบคลุมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้อีก หรือคุณเพิ่งซื้อเครื่องประดับใหม่ คุณก็อยากที่จะเพิ่มความคุ้มครองให้กับของมีค่าของคุณ

ตรวจสอบดูว่าบ้านที่คุณซื้อมีประกันภัยแล้วหรือยัง
ถ้าคุณซื้อบ้านมือสอง ควรตรวจสอบว่าบ้านนั้นมีประกันภัยหรือยัง ส่วนใหญ่บ้านมือสองที่ยังผ่อนชำระไม่หมด ธนาคารที่เป็นผู้ปล่อยกู้หรือเจ้าหนี้ ต้องให้เจ้าของบ้านทำประกันภัยบ้านทั้งสิ้น นี่ก็เป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ทำให้คุณไม่ต้องเสียเบี้ยประกันภัยแพง เพียงแค่ซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ครบตามความต้องการ


0012

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจการประกันภัยเจ้าบ้าน  โดย กรมการประกันภัย

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจการประกันภัยเจ้าบ้าน เช่น หลักในการพิจารณาว่า ตนมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องทำประกันภัย จุดไหนของสัญญาประกันภัย ที่ควรพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ

ต้องสำรวจดูถึงสภาพความเสี่ยงภัยและความต้องการความคุ้มครองของ เจ้าของอาคารที่อยู่อาศัยว่ามีความจำเป็นต้องทำประกันภัย หลายอย่างในขณะเดียวกันหรือไม่ เช่น ต้องการความคุ้มครอง จากอัคคีภัยจากโจรกรรม หลักทรัพย์ ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และการสูญเสียค่าเช่าเป็นต้น ถ้าหากผู้เอาประกันภัย ได้ทำการประกันภัยแต่ละแบบหรือมีกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับอยู่แล้ว การทำประกันภัยเจ้าบ้านฉบับเดียวโดยได้รับ ความคุ้มครองทั้งหมดจะเกิดความสะดวกและประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้มากกว่า

ผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารซึ่งมีรายได้หลักจากการให้เช่าอาคาร เช่น เจ้าของห้องชุดให้เช่า เจ้าของอพาร์ทเมนท์ เจ้าของหอพัก เป็นต้น จะได้ประโยชน์เพราะโดยปกติมักจะมีการประกันอัคคีภัย การประกันภัยการสูญเสีย ค่าเช่าอยู่แล้ว และขอแนะนำให้ซื้อการประกันภัย ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพิ่มเติม ดังนั้น การซื้อการประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน กรมธรรม์เดียวจะให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึง ความคุ้มครองทุกส่วนที่ต้องการและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยมักจะให้ความสำคัญกับเรื่อง การประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกนอกจากนี้ยังมีความต้องการความคุ้มครองถึงทรัพย์สินของคนใช้หรือผู้ติดตามด้วย ซึ่งกรมธรรม์สำหรับเจ้าบ้านบางแบบอาจจะมีการขยายความคุ้มครองถึงเสื้อผ้าและทรัพย์สินส่วนตัวของคนใช้ หรือผู้ติดตามผู้เอาประกันภัยและอยู่ในบ้านของผู้เอาประกันภัย

สำหรับบ้านอยู่อาศัยโดยทั่วไปจะมีความจำเป็นหรือไม่นั้น ควรพิจารณาถึงภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ว่ามีความจำเป็น หรือมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายมากน้อยขนาดไหน เพราะการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านจะต้องซื้อเป็น Package ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแพงกว่าการเลือกซื้อกรมธรรม์เป็นแบบ ๆ ไป เนื่องจากจะต้องจ่าย เบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองบางอย่างซึ่งไม่ต้องการ

ผู้เช่า ซึ่งเป็นผู้เช่าบ้าน ผู้เช่าคอนโดมิเนียม/ห้องชุด ผู้เช่าอพาร์ทเมนท์ เป็นต้นสามารถทำประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านได้ แต่จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะส่วนของความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของตนและความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น สำหรับตัวอาคารนั้นผู้เช่าไม่สามารถนำไปทำประกันภัยได้ เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์หรือส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว


0013 สาระพันปัญหาประกันภัย 
ประกันประเภทไหนที่นิยมทำกันมากที่สุด
โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงความปลอดภัย 4 ด้าน คือ ชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน และ การเงิน

เมื่อคุณพูดถึงเรื่องทรัพย์สิน ประกันภัยบ้านถือว่าเป็นประกันที่สำคัญที่สุดหรือไม่
แม้ว่าบ้านจะเป็นทรัพย์สินที่ราคาสูงที่สุดก็ตาม แต่ประกันภัยบ้านกลับได้รับ ความนิยมต่ำกว่าประกันภัยรถ ถ้าคุณลองมองดูบ้านของคุณใหม่อีกครั้ง ภาพที่เห็นคือการลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต คุณจึงไม่ควรมองข้าม หากเพียงสามารถจ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้บ้านของคุณมีเกราะคุ้มครองที่คุ้มกันภัยทั้งตัวบ้าน ทรัพย์สินภายในบ้าน หรือแม้แต่บุคคลที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังนั้น

เมื่อซื้อประกันภัยบ้านแล้ว หรือบ้านนั้นมีประกันภัยแล้ว จะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่

ประเด็นสำคัญ คุณจะต้องรู้ว่าประกันภัยที่คุณซื้อมาให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง และไม่ได้ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่นหลายบริษัท จะไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินประเภท เงิน ธนบัตร อัญมณี แบบพิมพ์ เอกสารสำคัญ สมุดบัญชี ภาพเขียน ยานพาหนะ ต้นไม้ และการจัดแต่สวน ดังนั้น ก่อนจะซื้อประกันคุณต้องประเมินความต้องการของตัวคุณ และอ่านราย ละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ

ในกรณี ที่มีการต่อเติมบ้าน ควรจะต้องเจ้งบริษัทประกันหรือไม่
ควร โดยเฉพาะถ้าคุณต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งหรือต่อเติมเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น คุณก็สามารถได้รับค่าชดเชยที่ถูกต้องและ ครอบคลุม

หากมีการสูญเสียทรัพย์สินภายในบ้าน จะต้องมีหลักฐานยืนยันกับทางบริษัท ประกันหรือไม่
ไม่ เพียงแต่คุณให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกทำลายหรือได้รับ ความเสียหายมากที่สุดที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันที่ดี เพราะ ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องยากที่จะจำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียหายหรือถูกขโมย เพราะฉะนั้นทางที่ดี เราแนะนำว่าคุณควร บันทึกวิดีโอรายการทรัพย์สินคุณไว้ และควรเก็บบิลของสิ่งที่มีค่าของคุณไว้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น


   
 

 

 

 


rscelaw@yahoo.com

ปรับปรุงแก้ไข จันทร์, 26 ธันวาคม 2548 15:22:07