สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและวิศวกรรม  รังสรรค์ วงษ์บุญ
Office of Law and Engineering Consultants
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.


บทความที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธาจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

ทำไมอิฐต้องแช่น้ำ  แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17399 วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2548

เทคนิคก่ออิฐที่ได้มาตรฐานป้องกัน ปัญหาผนังบ้านร้าว ไม่ได้มีแค่เหล็กหนวดกุ้งจะป้องกันปัญหาผนังปูนแตกร้าว ยังมีเทคนิคอื่นๆ
ที่เราเจ้าของบ้านควรรู้
เทคนิคแรกในการเริ่มก่อผนังปูน..
. อิฐที่นำมาก่อผนัง จะต้องผ่านการแช่น้ำให้อิ่มตัว ปัญหานี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ที่ช่างยุคนี้จะมอง
ข้าม เพราะต้องการเร่งงานให้เสร็จไว เลยไม่ค่อยเอาอิฐแช่น้ำกัน

แต่ความจริงแล้ว การเอาอิฐแช่น้ำเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เนื่องจากอิฐนั้นมีรูพรุนสูง ถ้าไม่เอาไปแช่น้ำให้อิ่มตัว ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์
ไทย
บอกว่า...อิฐจะดูดน้ำจากปูน ก่อในขณะที่ปูนยังไม่ แข็งตัว

ทำให้น้ำในส่วน ผสมของปูนก่อหดหายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปูนหดตัวเร็วและแตกร่วน ทำให้เราได้ ผนังที่ไม่แข็งแรงและโยกคลอน
ได้ แบบเดียวกับเอาอิฐแตกร้าวมา ก่อผนังนั่นแหละค่ะ

ข้อดีอีกประการของการเอาอิฐมาแช่น้ำ ก็คือ น้ำจะช่วยชำระล้างผงฝุ่น เศษดิน ที่จับเกาะอยู่บนอิฐ ทำให้ผิวอิฐสะอาด ปูนจะจับเกาะ เนื้ออิฐ
ได้มั่นคงแข็งแรงมากกว่าอิฐสกปรกค่ะ

อิฐต้องแช่น้ำให้อิ่ม หลายคนอาจจะสงสัย ต้องแช่นานขนาดไหนถึงจะอิ่มตัว? สังเกตง่ายๆ...เมื่อเอาอิฐลงไปแช่ แล้วน้ำมักจะมีฟองอากาศ
พุ่งออกมาจากก้อนอิฐ เพราะน้ำได้เข้าไปอยู่ในรูพรุนแทนที่อากาศ

แช่แล้วฟองอากาศหยุดพุ่งออกมาจากอิฐเมื่อไร... นั่นแหละจุดอิ่มตัว

ได้อิฐที่แช่น้ำจนอิ่มตัวแล้ว...เวลาก่อปูนควรก่อให้ปูนหนาประมาณ 1.5-2 ซม. เพราะเป็นระยะที่เหมาะสม  ก่ออิฐใช้ปูนบางกว่านี้...ปูนยึดจับอิฐไม่ดี ผนังไม่แข็งแรง

แต่ถ้าก่ออิฐใช้ปูนหนาไป...ไม่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง แต่จะมีปัญหาเรื่อง ไม่ประหยัดเงินค่าปูนค่ะ.

ทำให้น้ำในส่วน ผสมของปูนก่อหดหายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปูนหดตัวเร็วและแตกร่วน ทำให้เราได้ ผนังที่ไม่แข็งแรงและโยกคลอนได้ แบบเดียวกับเอาอิฐแตกร้าวมาก่อผนัง
นั่นแหละค่ะ

ข้อดีอีกประการของการเอาอิฐมาแช่น้ำ ก็คือ น้ำจะช่วยชำระล้างผงฝุ่น เศษดิน ที่จับเกาะอยู่บนอิฐ ทำให้ผิวอิฐสะอาด ปูนจะจับเกาะ เนื้ออิฐได้มั่นคงแข็งแรงมากกว่าอิฐสกปรกค่ะ

อิฐต้องแช่น้ำให้อิ่ม หลายคนอาจจะสงสัย ต้องแช่นานขนาดไหนถึงจะอิ่มตัว? สังเกตง่ายๆ...เมื่อเอาอิฐลงไปแช่ แล้วน้ำมักจะมีฟองอากาศพุ่งออกมาจากก้อนอิฐ เพราะน้ำได้เข้าไปอยู่
ในรูพรุนแทนที่อากาศ

แช่แล้วฟองอากาศหยุดพุ่งออกมาจากอิฐเมื่อไร... นั่นแหละจุดอิ่มตัว  ได้อิฐที่แช่น้ำจนอิ่มตัวแล้ว...เวลาก่อปูนควรก่อให้ปูนหนาประมาณ 1.5-2 ซม. เพราะเป็นระยะที่เหมาะสม

ก่ออิฐใช้ปูนบางกว่านี้...ปูนยึดจับอิฐไม่ดี ผนังไม่แข็งแรง แต่ถ้าก่ออิฐใช้ปูนหนาไป...ไม่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

แต่จะมีปัญหาเรื่องไม่ประหยัดเงินค่าปูนค่ะ.


เสาเอ็น - คานทับหลัง  แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17413 วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2548
 

 เสาเอ็น คานทับหลัง... เป็นเทคนิคการก่อผนัง อีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้

ผนังก่ออิฐฉาบปูน จะแตกร้าวหรือไม่ ขึ้นอยู่ กับว่าช่างที่เราจ้าง มาก่อผนังให้กับบ้าน ได้ทำเสาเอ็นและคานทับ หลังเสริมขึ้นมาบนผนังหรือไม่

บ้านสมัยนี้หาได้ค่อนข้างยากค่ะ ที่ช่างจะทำสิ่งนี้ เพราะต้องใช้เวลามากและ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น... ช่าง ผู้รับเหมาเลยตัดทิ้งไม่ให้ ความสำคัญ

การก่อผนังที่ได้มาตรฐาน ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย บอกว่า ช่างต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เร่งก่อผนังให้เสร็จในวันเดียว

เมื่อก่ออิฐไปได้สูงประมาณ 1.5 ม. ช่างต้องหล่อทำคานทับหลัง และเมื่อก่ออิฐไปได้ยาว 2 ม. ก็ต้องมีการหล่อทำเสาเอ็นขึ้นมาด้วย

ทั้งเสาเอ็นและคานทับหลังต้องขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 15 ซม. และมีเหล็กขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น เป็นโครงเหล็กอยู่ข้างใน โดยที่ปลายเหล็กของคานทับหลังต้องฝังอยู่ที่เสา และปลายเหล็กของเสาเอ็นต้องฝังที่คาน (อย่างในภาพประกอบ)

หล่อทำคานทับหลังและเสาเอ็นเสร็จแล้ว ทิ้งไว้สัก 1 คืน แล้วค่อยมาก่ออิฐต่อใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ไม่ให้ช่างก่ออิฐ ให้เสร็จภายในวันเดียวไปเลย เหตุเพราะการก่ออิฐที่สูงมากจนเกินไป ในขณะที่ปูนยังแห้งไม่ทัน อิฐที่ก่อสูง น้ำ หนักของอิฐมีมากขึ้น

น้ำหนักของอิฐ จะไปกดทับแนวอิฐที่ก่อไว้เกิดการยุบตัว ทำให้ผนังทรุดและเบี้ยวได้

แล้วจะก่อปัญหาแตกร้าวให้เราได้เห็นชัด หลังจากที่ฉาบปูนเสร็จแล้ว

ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องหยุดพักการก่อผนังอิฐ และหล่อคานทับหลังกับเสาเอ็น ไว้เพื่อช่วยลดการหดตัว ของปูนก่อผนัง

พร้อมทั้งช่วยดึงรั้งให้ผนังบ้านมีความแข็งแรงกว่า ผนังที่ไม่มีเสาเอ็นและคานทับหลังค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17420 วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2548

เสาเอ็น - คานทับหลัง (2)

 เสาร์ที่แล้วแนะ... ให้รู้จักเสาเอ็นและคานทับหลัง

แต่การก่อผนังมีเสาเอ็นและคานทับหลัง ที่ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย บอกว่า เมื่อก่ออิฐไปในแนวยาว 2.5 ม. ต้องมีเสาเอ็น ก่ออิฐได้สูง 1.5 ม. ต้องมีคานทับหลังนั้น... เป็นสูตรโดยประมาณ สำหรับผนังไม่มีช่องประตูหน้าต่าง

ถ้าผนังที่มีประตูหน้าต่าง ตำแหน่งของเสาเอ็นและคานทับหลัง จะเปลี่ยนไปตามขนาดของประตูและหน้าต่าง

ต้องมีเสาเอ็นประกบวงกบประตูหน้าต่างทั้งสองข้าง และมีคานทับหลังประกบติดกับวงกบประตูหน้าต่างทั้งด้านบนและด้านล่าง

แต่คานทับหลังด้านบนต้องยาวเลยวงกบประตูหน้าต่าง อย่างน้อย 20 ซม.

ฉะนั้น คานทับหลังด้านบนทำให้ยาวเลยวงกบไปชนเสาบ้านไปเลย (ดูภาพประกอบ)

ทำแค่เพียงนี้ เราจะได้ผนังบ้านที่แข็งแรงและลดการแตกร้าว ได้แบบเดียวกับผนังไม่มีประตูหน้าต่างแล้วค่ะ

เหตุผลที่ต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลังในตำแหน่งนี้ มีอยู่ 2 ประการ

หนึ่งนั้น อิฐที่ก่ออยู่บนวงกบประตูหน้าต่าง น้ำหนักเบาซะที่ไหน วงกบประตูหน้าต่างถูกอิฐด้านบนถ่ายน้ำหนักลงมาบนวงกบ ...วงกบบิดเบี้ยวเสียรูป หน้าต่างประตูเปิด-ปิด ได้ไม่สะดวก แถมอิฐที่ทรุดมาตามวงกบที่เบี้ยว ทำให้ผนังแตกร้าวตามมา

จึงต้องมีคานทับหลังมารับน้ำหนักก้อนอิฐ ถ่ายไปให้เสาเอ็นป้องกันวงกบประตูหน้าต่างบิดเบี้ยว

สองนั้น วงกบประตูหน้าต่างเป็นไม้ มีการยืดหดตัวตลอดเวลา

ถ้าไม่มีเสาเอ็นและคานทับหลังบีบประคองไว้ การยืดขยายตัวของวงกบจะทำให้ผนังแตกร้าวตามมาค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17428 วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2548

อิฐใต้คาน

 เทคนิคก่ออิฐป้องกันผนังแตกร้าว ยังไม่จบค่ะ

ยังมีอีกจุดที่มักจะมีการแตกร้าว ให้เห็นเป็นประจำ นั่นคือ...การก่ออิฐใต้ท้องคาน

ถ้าบ้านของคุณได้ช่างฝีมือไม่ดี ก่ออิฐไม่เป็นแต่โมเมว่า เป็นช่างปูนแล้วล่ะก็ คุณจะได้บ้าน ที่มีผนัง จะมีรอยร้าวแตกแยกให้เห็น เป็นแนวยาวไปตามคาน (รูปลูกศรสีเหลือง)

รอยแยกตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างอิฐกับใต้ท้องคาน ไม่เพียงทำให้เราบาดตาบาดใจเท่านั้น ยังจะสร้างปัญหาน้ำฝนสาดซัด รั่วซึมเข้าบ้าน เข้าผนังทำให้สีบ้านบวมหลุดล่อน

รั่วหยดแหมะลงไปบนฝ้าเพดาน ฝ้าก็มีรอยด่างดำและบวมพอง แถมยังเป็นช่องให้มด ปลวก หนู ได้เข้าไปทำรังออกลูกหลานได้ด้วย

การก่อผนังอิฐชนใต้ท้องคานที่ถูกต้อง ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย แนะว่า...เมื่อก่ออิฐขึ้นมา ได้สูงเกือบถึงคาน

ให้เหลือช่องว่างใต้ท้องคานไว้ประมาณ 10 ซม.

แล้วทิ้งให้ปูนก่อผนังอิฐแห้งสนิท สัก 1-2 วันหรือมากถึง 7 วันได้ก็จะยิ่งดี เพื่อให้ปูนแข็งตัวได้ที่ ถึงจะให้ช่างก่ออิฐปิดใต้ท้องคานได้

โดยก่อให้อิฐทำมุมเฉียง 30-45 องศา และใช้ปูนก่ออุดให้เต็มทุกซอกมุมของพื้นที่ ว่างใต้ท้องคาน

ฉะนั้นจงจำไว้ เมื่อมีการก่ออิฐชนใต้ท้องคาน...อย่าให้ช่างเร่งก่อผนังอิฐขึ้นไป สูงจนชนคานในวันเดียวกัน

เพราะการก่ออิฐชนใต้ท้องคาน โดยที่ปูนก่ออิฐด้านล่างยังไม่แข็งตัวเต็มที่ ก่อไปแล้วอิฐด้านบนที่ชนท้องคานซึ่งมีน้ำหนักมาก จะไปกดให้อิฐด้านล่างยุบตัว

ทำให้อิฐที่ก่อไว้ใต้ท้องคานทรุดตาม และแยกตัวออกมาจากท้องคาน เมื่อฉาบปูนทับไปแล้ว จะเกิดรอยร้าวให้เราได้เห็น

แต่กว่าอาการนี้จะโผล่ให้เราได้เห็น... ต้องใช้เวลาหลายเดือน

ตอนนั้นช่างท่านเตลิดไปไกล จนเราไม่รู้จะเอาผิดกับใครค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17434 วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2548

7 วัน..อันตราย

ก่อผนังอิฐได้ถูกต้องตามมาตรฐาน ช่างฝีมือดี ใช่จะหยุดการทรุดแตกร้าวได้

ยังมีขั้นตอนสำคัญอีกอย่าง ที่เจ้าของบ้านควรรู้

ช่วง 7 วัน อันตราย!!!

หลังจากปูนเริ่มแข็งตัว ต้องบ่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 7 วัน

ไม่เช่นนั้นต่อให้บ้านที่คุณสร้าง ได้ช่างปูนฝีมือดีแค่ไหน ถ้าผู้รับเหมา และช่างปูนเร่งทำงานให้ เสร็จเร็วจนเกินไป ไม่มีการบ่มน้ำให้กับปูนซีเมนต์ให้ ได้ 7 วันแล้วล่ะก็

บ้านคุณจะมีปัญหา เรื่องบ้านทรุดแตกร้าวตาม มาได้ค่ะ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย อธิบายว่า...เมื่อปูนเริ่มแข็ง 7 วันแรกเป็นช่วงเวลาตั้งไข่ของปูนซีเมนต์

ปูนจะแข็งแรง-ทนทาน-รับน้ำหนัก-ไม่แตกร้าว-ยึดเกาะได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่ว่าช่วงเวลาตั้งไข่ ได้น้ำมาเลี้ยงบ่มมากแค่ไหน

ถ้าไม่มีการบ่มเลี้ยงน้ำ...ปูนจะเกิดแตกร้าว

เพราะปูนซีเมนต์เมื่อผสมกับน้ำจะเกิดปฏิกิริยาความร้อนขึ้นในเนื้อปูน ความร้อนที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ร้อนกันแค่ 1-2 วัน หากแต่ร้อนนานเป็นปีค่ะ ปฏิกิริยาความ ร้อนถึงจะหยุดลง...แต่จะร้อนมากที่สุดในช่วง 7 วันแรก

ปูนร้อนอัตราการขยายตัวของปูนก็มีมาก ถ้าไม่บ่มน้ำ ปล่อยให้ปูนร้อนไปตามยถากรรม การจะขยายตัวก็จะมีมาก...1 ปีผ่านไป ปูนเย็นลงการหดตัวเกิดขึ้น การแตกร้าวก็จะตามมา

แต่ถ้าเราบ่มน้ำ ควบคุมไม่ให้มันร้อนมากไป การขยายตัวของปูนก็จะน้อย เมื่อปูนเย็นลง การหดตัวก็จะน้อยตาม รอยแตกร้าวก็จะไม่มีค่ะ

ฉะนั้นจำไว้...ไม่ ว่าอะไรก็ตาม ถ้าทำจากปูนซีเมนต์ 7 วันแรกต้องบ่มน้ำ

เสา คาน ตอม่อ พื้น ต้องบ่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 7 วัน

ก่อผนังอิฐเสร็จแล้วก็ต้องบ่มน้ำ 7 วันเหมือนกัน ถึงจะฉาบปูนได้ค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17441 วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2548

สลัดออก

ผนังไม่เคยมีรอยร้าวมาก่อน...แต่อยู่ๆ ทำไมปูนฉาบถึงหลุดร่วงลงมาได้

ไม่ต้องสงสัยหรอกค่ะว่า เกิดขึ้นได้ยังไง ...เกิดขึ้นได้เพราะช่างไม่มีความรู้ ทำงานไม่ได้ มาตรฐาน

ปัญหานี้ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย บอกว่า...มักจะเกิดมาจาก 2 สาเหตุ

หนึ่งนั้น มาจากช่างฉาบผนังในขณะที่ ผนังสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่นผง โดยไม่มีการฉีดล้าง ทำความสะอาดผิวผนังก่ออิฐก่อนจะลงมือฉาบ
รวมทั้งเกิดจากผนังที่จะฉาบแห้งเกินไป เพราะไม่มีการฉีดบ่มน้ำก่อนจะทำการฉาบ

เลยทำให้ปูนฉาบจับเกาะผนังอิฐได้ไม่เต็มที่ ปูนเลยหลุดล่อนร่วงลงมาได้

อีกหนึ่งนั้น มาจากผิว คอนกรีตที่จะฉาบเรียบมัน จนเกินไป โดยเฉพาะการฉาบบริเวณเสา-คาน เนื่องจากผิวคอนกรีตที่เกิดจากการหล่อ
มักจะมีความเรียบมัน จนปูนฉาบจับเกาะได้ไม่ถาวร

ฉะนั้นก่อนจะฉาบผนัง ต้องให้ช่างฉีดล้างทำความสะอาดเสียก่อน... แต่ถ้าจะฉาบปูนบนเสาและคาน ต้องดูมากกว่านั้น

ดูว่า...ช่างได้ทำผิวเสา-คานให้ขรุขระ ลด ความเรียบมันหรือไม่

ปกติการทำให้ผิวคอนกรีตขรุขระ ช่างจะใช้เหล็กสกัดหรือตะปูกะเทาะ ให้ผิวคอนกรีตเป็นรอยหยาบ แต่วิธีนี้จะเหนื่อยและเปลืองแรงมากกว่า ช่างมักใช้วิธีสลัดดอกแทน

และปูนที่จะนำมาสลัดดอกได้มาตรฐาน ต้องเป็น “ปูนเค็ม” หรือปูนที่มีส่วนผสมของปูนซีเมนต์เข้มข้นกว่าปกติ

ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน : ทรายหยาบ 1 ส่วน

ผสมน้ำเสร็จแล้ว ใช้ ไม้กวาดก้านมะพร้าวจุ่มลงไปในปูนเหลวๆ แล้วเคาะสลัดให้ปูน กระเด็นไปจับเกาะบนเสา-คานให้หยาบทั่วผิว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้ แห้งสักหนึ่งวัน
ถึงค่อยให้ช่างฉาบได้

ถ้าไม่ทำอย่างนี้สิ่งที่คุณจะเจอ...เมื่อเอานิ้วเคาะไปบนผนังปูนจะได้ยินเสียงเป็นโพรง

จากนั้นไม่นานปูนฉาบก็จะหลุดร่วงมาให้คุณได้เห็นค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 56 ฉบับที่ 17449 วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2548

เหล็กกรงไก่

 มุมวงกบประตูหน้าต่าง เป็นอีกจุดที่เรามักจะพบ รอยร้าวบนผนังปูน

รอยร้าวที่เกิดขึ้นมีทั้ง แตกทะแยงเฉียงขึ้น-เฉียงลง และร้าวได้ทั้งมุมเดียว สองมุม และทุกมุมของวงกบ

สาเหตุนั้นมาจาก...หนึ่ง วงกบประตูหน้าต่างทำจากไม้ ถูกแดดถูกฝน วงกบมีการยืดหดตัวตลอดเวลา เลยไปดันให้ผิวผนังปูนฉาบ แตกร้าว อย่างในภาพประกอบรูปเล็ก

สอง ประตูหน้าต่างมีไว้ปิด-เปิด...เปิด-ปิดแต่ละครั้ง มีการผลักดึงกระแทก ส่งผลให้ปูนฉาบร้าวได้

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาตลอดอาจจะเถียง ในเมื่อ “แม่ทองต่อ” เคยบอก การก่อผนังที่ถูกต้องป้องกัน การแตกร้าวได้ จะต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง

ในเมื่อทำเสาเอ็นและคานทับหลังประคับ ประคองประตูหน้าต่างแล้ว...ทำไมผนังปูนยังแตกร้าวได้อีก?

เสาเอ็นและคานทับหลังนั้น...มีไว้เพื่อช่วยให้ผนังอิฐปูนก่อมีความแข็งแรง

ไม่ได้มีไว้ช่วยให้ผนังปูนฉาบมีความแข็งแรงแต่อย่างใด

ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย บอกว่า...ปูนฉาบมีจุดอ่อน!

จะฉาบตรงไหนก็ตาม ถ้าฉาบในพื้นที่หักเป็นมุม อย่างฉาบรอบๆ วงกบประตูหน้าต่าง ปูนฉาบ มักจะเกิดรอยแตกร้าว อย่างในภาพประกอบรูปเล็ก

เนื่องจากเป็นจุดที่ปูนฉาบมีแรงยึดจับซึ่งกันและกันน้อย เจออะไรนิดอะไรหน่อย จะเกิดรอยร้าวค่ะ

ในเมื่อจุดนี้เป็นปมด้อยของปูนฉาบจะให้มันแข็งแรง จำเป็นต้องมีวัสดุช่วยเสริมแรงจับยึดให้ปูนฉาบ

ด้วยการติดเหล็กตะแกรงลวดตาข่าย ที่ช่างเรียกว่า “เหล็กกรงไก่”

ก่อนจะฉาบใช้ตะปูตอกติดเหล็กกรงไก่ไปบนผนังอิฐ เฉพาะบริเวณที่เป็นมุมของวงกบทุกมุม โดยติดเหล็กกรงไก่ให้ครอบคลุม พื้นที่ห่างจากมุมวงกบสัก 30 ซม.

แค่นี้ก็เพียงพอ...สำหรับการลบปมด้อยให้ปูนฉาบค่ะ


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17456 วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2548

ปูนขาวกับฉาบปูน

บ้านจะสวยไม่สวยขึ้นอยู่กับปูนฉาบ เพราะ เป็นส่วนที่อวดสายตาให้กับ เจ้าของบ้านและผู้ พบเห็น

จะฉาบปูนให้บ้านสวย ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติ ของปูนฉาบสักนิด... เพื่อป้องกันช่างยุคนี้ ใช้วาจาหลอกต้มให้เราปวดใจ ในภายหลังค่ะ

ปูนซีเมนต์ที่เอามาใช้ก่อถึง จะเอาใช้ฉาบได้ แต่ลักษณะการใช้งานของปูนฉาบ ไม่เหมือนปูนก่อ

ปูนก่อก่อยังไงปูนยากจะหลุดร่วงลงมา เพราะวางตั้งอยู่บนคานบนอิฐ

แต่ปูนฉาบต้องแปะให้ติดกับด้านข้างของผนัง โดยธรรมชาติปูนฉาบต้องฝืนแรงดึงดูดของโลก ถ้าไม่มีกาวมาผสมช่วยเป็นแรงเสริมในการยึดจับ
ผนัง มันก็จะหลุดร่วงลงมาได้ง่าย

ฉะนั้น ส่วนผสมปูนฉาบของช่างฝีมือยุคเก่า จึงไม่ได้มีแค่ปูน ซีเมนต์กับทรายละเอียด อย่างที่เรารู้กัน...ต้องมีปูนขาวผสมอยู่ด้วย

เพื่อทำหน้าที่เป็นกาวยึดจับผนังและช่วยให้ การฉาบได้ลื่นและง่ายขึ้น

แต่ปูนขาวที่เอามาผสมในปูนฉาบ...ไม่ใช่ ปูนขาวที่ตักจากถุงแล้วเอามาใช้เลย

ต้องเป็นปูนขาวที่ผ่านการร่อน ร่อนได้เป็นผงแล้วเอาไปหมักน้ำอีกอย่างน้อย 24 ชั่วโมง...ถึงจะเอามาผสมลงในปูนฉาบได้

ช่างยุคนี้อย่าว่าแต่จะเอาปูนขาวไปหมักน้ำ แค่ร่อนปูนขาวลงไปผสมในปูนฉาบยังไม่มีให้เห็นกันเลย

เพราะขั้นตอนยุ่งยากมากเรื่อง...ช่างเลยข้ามขั้นตอน ไม่ทำมันซะเลย

บ้านฉาบปูนยุคนี้จึงสู้บ้านยุคเก่าไม่ค่อยได้

ยุคนี้ถึงจะหาช่างหมักปูนขาวไม่ได้ก็ตาม ก็ไม่ต้องกังวล...แต่ต้องดูให้ดีเวลาผสมปูนฉาบ... ช่างเติม “น้ำยาผสมปูนฉาบ” ลงไปด้วยหรือเปล่า

เนื่องจากปัจจุบันนี้ มีการผลิตน้ำยาตัวนี้ขึ้นมาใช้แทนความยุ่งยากในการ หมักปูนขาวค่ะ มีให้เลือกซื้อไปใช้ทั้งในแบบที่เป็นน้ำ และผง...ทำอย่างนี้ คุณถึงจะได้ผนังปูนฉาบที่ดี

แต่เทคนิคฉาบปูนที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีแค่ต้องใช้น้ำยาผสมปูนฉาบแทนปูนขาว

ยังมีเทคนิคอื่นๆอีกที่เจ้าของบ้านควรรู้เพื่อบ้านสวย...ติดตามต่อเสาร์หน้าค่ะ


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17462 วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548

ปูนฉาบ..ฉาบเฉพาะ

ปูนฉาบที่ดี ไม่เพียงต้องมี “สารผสมปูนฉาบ” ผสมลงได้ด้วยเท่านั้น... ยังต้องมี ปูนซีเมนต์ และทราย ที่ดีประกอบกันไปด้วย

ปูนซีเมนต์ที่นิยม นำมาผสมปูนฉาบมาก ที่สุด... ปูนซีเมนต์ผสม หรือ ปูนซีเมนต์สำหรับก่อ/ฉาบทั่วไป

จะเอาปูนชนิดนี้มาใช้ฉาบ... สิ่งสำคัญที่สุด ที่ต้องระวัง ช่างได้เอาปูนซีเมนต์ใส่ตะแกรง ร่อนเลือกเอาเฉพาะผงปูนมาใช้เท่านั้น

ปูนเป็นก้อนเป็นเม็ด อันเกิดจากความชื้นเพราะเก็บไว้นาน นำมาผสมเป็นปูนฉาบไม่ได้...ฉาบไปแล้วผนังไม่สวยไม่เรียบเนียน

และถ้าต้องการให้ผนังสวยเรียบเนียนมากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย แนะให้ใช้ปูนซีเมนต์สำหรับงานฉาบโดยเฉพาะ
เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ Masonry”

เนื่องจากเป็นปูนซีเมนต์ที่ถูกบดให้เม็ดปูนมีขนาดเล็กละเอียดกว่าปูนซีเมนต์ก่อ/ฉาบทั่วไป... เม็ดปูนเล็กกว่าครึ่งหนึ่ง

เลยทำให้ผิวปูนฉาบมีความเรียบเนียนมากกว่า เนื้อเม็ดปูนที่เล็กละเอียดสามารถแทรกซอนผสมกับทรายได้ทั่ว การจับเกาะผนังเลยมีมากขึ้น

และยังเป็นปูนซีเมนต์ที่มีการเติมสารผสมปูนฉาบลงไปด้วย

ฉะนั้นเมื่อใช้ปูนฉาบเฉพาะตัวนี้ คุณไม่ต้องห่วงเรื่องช่างได้ใช้น้ำยาผสมปูนฉาบลงในปูนฉาบจริงหรือเปล่า

แต่ต่อให้คุณใช้ปูนซีเมนต์ดีแค่ไหน...ผนังบ้านจะเรียบเนียนได้จริง ยังขึ้นอยู่กับ “ทราย” อีกว่า...สะอาด เล็กละเอียดจริงหรือเปล่า

ทรายที่ซื้อมา ถึงทางร้านจะบอกว่าเป็นทรายละเอียด...แต่ก็ยังเชื่อไม่ได้

จะให้ได้ทรายที่เล็กละเอียดเหมาะแก่การฉาบ ทรายต้องผ่านการร่อนตะแกรง เลือกเอาแต่เม็ดเล็กจริงๆเท่านั้น

ทรายเม็ดใหญ่ ขยะ เศษซากพืชซากสัตว์ สิ่งแปลกปลอมเจอปนต่างๆ จะต้องคัดออกไปให้หมด...ถ้าไม่ทำอย่างนี้ คุณจะไม่มีทางได้ผนังที่ทนทานสวยเรียบเนียน

ตรงนี้แหละ เป็นเรื่องยากที่สุดในยุคนี้...ถ้าคุณไม่คุมงานก่อสร้างเอง ยากจะมีช่างมาร่อนคัดทรายให้คุณ

แล้วเราจะแก้ปัญหาจุกจิกเรื่องทรายนี้ได้อย่างไร...ว่ากันต่อเสาร์หน้า.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17476 วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2548

ฉาบสำเร็จรูป (2)

อยากได้ผนังฉาบปูน ที่เนียนเรียบสวย ...ต้องใช้ปูนฉาบสำเร็จรูป

เพราะเป็นทางเลือกสำหรับยุคนี้ ทำให้คุณตัด ปัญหาเรื่องช่างไม่ร่อนปูน ไม่ร่อนทราย ไม่ล้างทราย ไม่ผสมน้ำยาผสมปูนฉาบ ผสมปูนฉาบผิดสัดส่วน

การที่ช่างไม่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ ล้วนแต่ ทำให้บ้านคุณมีปัญหาในภายหลัง... หลังจากที่ช่างรับเงิน และหนีหน้าหายไปจากคุณแล้ว

แต่ปูนฉาบสำเร็จรูปมีหลายแบบ ที่ควรรู้ไว้มีอยู่ 3 ชนิด...

ฉาบทั่วไป...ปูนฉาบสำเร็จชนิดนี้ เหมาะสำหรับฉาบผนังที่ไม่ต้อง การความละเอียดเรียบเนียนมากนัก

แต่ก็ได้ผนังที่เรียบเนียนกว่าผนังปูนฉาบที่ช่างไม่ร่อนปูน ไม่ร่อนทรายค่ะ

ฉาบละเอียด...จะทำให้คุณ ได้ผนังที่ละเอียดเรียบเนียนกว่าปูนฉาบสำเร็จแบบทั่วไป เพราะผสมทรายที่มีขนาดเล็กกว่าทรายละเอียด

แต่จะฉาบให้ได้ผนังเรียบเนียนและติดทน การฉาบชั้นแรกต้องฉาบด้วยปูนฉาบสำเร็จรูปแบบทั่วไปก่อน

ฉาบชั้นที่ 2 ถึงจะเอาปูนฉาบสำเร็จรูปชนิดละเอียดฉาบทับลงไป (ปกติการฉาบปูนต้องฉาบ 2 ชั้น)

ถ้าใช้ปูนฉาบละเอียดฉาบทั้ง 2 ชั้น...ผนังจะเกิดรอยแตกร้าวแบบลายงา

ฉาบผิวคอนกรีต...ชื่อบอกอยู่แล้ว เป็นปูนฉาบสำเร็จรูปเหมาะสำหรับฉาบบนผิวคอนกรีตเช่น เสา คาน เป็นต้น

ฉาบได้โดยไม่ต้องสกัด หรือสลัดดอกให้ผิวคอนกรีตขรุขระ เพราะเป็นปูนฉาบมีส่วนผสมของกาวช่วยยึดเกาะผิวคอนกรีตที่เรียบมันได้

มีคุณสมบัติยึดเกาะจับผนังได้เหนียวแน่นกว่าปูนฉาบชนิดอื่น ...จะเอามาฉาบผนังอิฐก็ได้ค่ะ

แต่ราคาจะแพงกว่าปูนฉาบทั่วไป...ในราคาคูณด้วย 2

ได้ปูนฉาบที่ดีแล้ว ผนังจะไม่เกิดการแตกร้าว ก่อนลงมือฉาบต้องฉีดน้ำรดผนังเพื่อบ่มและล้างอิฐ ฉาบเสร็จแล้ว ปูนแห้งสนิท...อย่าลืมรดน้ำบ่มเลี้ยงผนังไปสัก 7 วันด้วยค่ะ

เพราะไม่ว่าอะไรก็ตาม ทำจากปูนซีเมนต์ ต้องบ่มน้ำทั้งนั้น...ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาแตกร้าวตามมา.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17482 วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2548

ซีเมนต์ขาว

เรื่องปูนซีเมนต์ยังไม่จบ ยังมีปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในการก่อสร้าง อีกอย่างที่ควรรู้ นั่นคือ...ปูนซีเมนต์ขาว

ไม่ใช่ปูนขาว และไม่ใช่ปูนปลาสเตอร์... เป็นปูนซีเมนต์ที่มีสีขาว

ปูนซีเมนต์ทั้งหลายทั้งปวงที่ “แม่ทองต่อ” นำมาเล่าสู่กันฟัง... เป็นปูนซีเมนต์สีเทา

ปูนซีเมนต์ขาว ปูนซีเมนต์สีเทา สรรพคุณเรื่องความแข็งแรงทนทาน และการใช้งานไม่ต่างกัน

แต่จะต่างกันมากๆ ก็ตรงราคา...ปูนซีเมนต์ขาวราคาจะแพงกว่าปูนซีเมนต์ เทา ประมาณ 6-7 เท่าตัว

สาเหตุที่แพงผู้ เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย บอกว่ามาจากหิน ปูนที่นำมาทำเป็นปูนซีเมนต์ขาวนั้นหาได้ยากกว่า

ปูนสีเทา...ได้มาจากหินปูนที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กมาก

ส่วนหินปูนที่เอามาทำเป็นปูนซีเมนต์ขาวจะต้องมีส่วนผสมของแร่เหล็กน้อย

ได้หินปูนมาแล้ว เวลาจะเผาให้เป็นปูน ซีเมนต์...จะเอาเชื้อเพลิงราคาถูกอย่างถ่านหิน มาเผาก็ไม่ได้ เผาไปแล้วจะมีขี้เถ้าถ่านหินเข้า มาปะปนในปูนซีเมนต์

เพื่อให้ได้ปูนซีเมนต์ที่ขาว จึงจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาแพงอย่างน้ำมันเตามาใช้เผาแทน

เห็นราคาของปูนซีเมนต์ขาวแพงจนน่าตกใจ หลายคนคงตั้งคำถาม ในเมื่อคุณสมบัติการใช้งานเหมือนกัน ใครที่ไหนจะซื้อของแพงกว่ากันตั้ง 6-7 เท่าตัวมาสร้างบ้าน

อย่าเพิ่งมองข้ามปูนซีเมนต์ขาวไปนะคะ

ขาวๆ และแพง...มีประโยชน์ค่ะ

ถ้าคุณต้องการบ้านสวยแบบไม่ต้องทาสี และไม่อยากวุ่นวายใจเรื่องทาสีไปแล้ว สีบวม สีถลอก สีหลุดล่อน

ปูนซีเมนต์ขาวจะเป็นหนึ่งในใจคุณ...ถ้าสู้ราคาไหว.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17489 วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2548

ปูนซีเมนต์ขาว ปูนซีเมนต์เทา คุณสมบัติการใช้งานเหมือนกัน จะต่างกันก็ตรง...ปูน ซีเมนต์ขาวราคาแพงกว่า 67 เท่าตัว

ราคาต่างกันมากมายขนาดนี้ เขาผลิตปูนซีเมนต์ขาวขึ้นมาทำไม ใครที่ไหนจะซื้อมาใช้งาน

มีค่ะ... ถ้าเขาต้องการให้บ้านขาว แบบไม่ต้องทาสี

เพราะเป็นปูนซีเมนต์ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อโชว์ความขาวเป็นการเฉพาะ มีให้เลือก 2 แบบ...

ปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์กับปูนซีเมนต์ขาวผสม สำหรับฉาบปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์ไม่ได้ผลิตมาเพื่อใช้ในการหล่อเสา เทคาน เพราะทั้งเสาทั้งคานไม่ได้โชว์ ต้องฉาบปูนทับอีกที

แต่เขาผลิตมาเพื่อนำไปใช้ในการเทพื้น ทำ TOPPING ปรับผิวหน้าพื้น หรือไม่ก็ทำเคาน์เตอร์ปูนค่ะ

ต้องการให้พื้นบ้านขาว เคาน์เตอร์ขาว...ต้องใช้ปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์

แต่จะขาวจริง ขาวจั๊วะล่ะก็...ทรายที่นำมาใช้ผสมกับปูนซีเมนต์ขาวต้องขาวด้วย

เอาทรายธรรมดามาผสม คุณจะได้สีเหลือง หรือไม่ก็สีน้ำตาล...ขึ้นอยู่กับทรายที่นำมาผสม มีสีอ่อนหรือเข้ม

ทรายที่จะให้พื้นบ้านขาว เคาน์เตอร์ขาว...ต้องใช้ทรายที่ทำมาจากแร่แคลไซท์

แน่นอนหาซื้อตามร้านธรรมดาน่ะหายาก...เขาจึงผลิตทรายประเภทนี้ออกมาขาย ใช้ชื่อว่า “Nature White”

เมื่อเอาไปผสมกับปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์... พื้นบ้านและเคาน์เตอร์ของคุณก็จะมีสีขาวธรรมชาติ

หรือถ้าต้องการให้มีสีสันมากกว่านี้ คุณสามารถเอาสีฝุ่นลงไปคลุกผสมด้วย

คุณจะได้เคาน์เตอร์และพื้นบาร์หลากสีสันตามที่คุณต้องการ...โดยไม่ต้องทาสี ไม่ต้องปูกระเบื้อง ปูหินอ่อน.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17497 วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2548

ซีเมนต์ขาว (3)

ปูนซีเมนต์ขาว ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อ โชว์ความขาว มีให้เลือก 2 แบบ

ปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์ สำหรับงานพื้น...ปูนซีเมนต์ขาวผสม สำหรับงานฉาบ

แต่จะเอาปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์ มาทำพื้นบ้านให้ขาว หรือผสมสีฝุ่น ให้มีสีสัน ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย ให้ข้อคิด...

ถ้าคุณเป็นคนจู้จี้จุกจิก ทนไม่ได้ที่เห็น มีรอยแตกลายงาเล็กๆ บนพื้นปูน...ปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์ อาจจะไม่เหมาะกับคุณ

เนื่องจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ไม่ว่าจะขาวหรือเทา ล้วนมีคุณสมบัติยืดหดตัวสูง...จึงมักเกิดรอยแตกลายงาเล็กๆ ให้เราได้เห็นเสมอ

รอยลายงาจะมีมากมีน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้น

พื้นมีขนาดเล็ก ใช้ปูนซีเมนต์น้อย การยืดหดตัวน้อย รอยลายงาก็จะน้อย พื้นบ้านมีขนาดใหญ่ ใช้ปูนซีเมนต์มาก การยืดหดตัวมีสูง ลายงาก็จะมากตามขนาดของพื้นที่

แต่สามารถแก้ปัญหาได้โดยแบ่งกั้นพื้นที่พื้นปูนให้เล็กลง โดยเส้นแบ่งกั้นพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่ทำมาจากพีวีซี, ทองเหลือง, อะลูมิเนียม, สเตนเลส ฯลฯ

ควรมีเส้นแบ่งกั้นพื้นที่ในทุกๆความกว้าง1 เมตร ยาว 1 เมตร ของพื้นปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์

กำจัดพื้นที่ให้เล็กลง เพื่อเวลาหดตัว ปูนจะได้หดออกมาจากเส้นแบ่งกั้น...รอยแตก ลายงาจากการหดตัวดึงกันเองของเนื้อปูน ก็จะไม่มีให้เราได้เห็น

แต่ถ้าไม่ชอบวิธีนี้ เนื่องจากจะทำให้พื้นบ้านมีเส้นมีรอยต่อ พื้นบ้านไม่เรียบเสมอเป็นเนื้อเดียว ผู้เชี่ยวชาญ เครือซิเมนต์ไทย แนะอีกวิธี...เติมสารเคมีที่ช่วยในการยึดเกาะและ ลดการหดตัวของปูนซีเมนต์ จะสามารถลดปัญหาพื้นปูนแตกลายงาได้

แต่ถ้าคิดว่ารอยแตกลายงาเล็กจิ๋วเป็นความสวยงามอีกแบบหนึ่ง

ไม่มอง ไม่จ้อง ไม่เห็น...ไม่เป็นไร

จะเอาปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์ทำพื้นแบบไหน สีอะไร...เชิญตามสะดวกค้า.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17504 วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2548

ซีเมนต์ขาว..ตอนจบ

 แนะให้รู้จักปูนซีเมนต์ขาว ปอร์ตแลนด์ไปแล้ว...วันนี้มารู้จัก ปูนซีเมนต์ขาวผสมสำหรับงานฉาบ

เอามาฉาบผนังคุณจะได้บ้านขาวแค่ไหน ขึ้นอยู่กับทรายที่นำมาผสม แบบเดียวกับปูนซีเมนต์ขาวปอร์ตแลนด์

ผสมกับทรายธรรมดา จะได้ผนังที่มีสีเหลืองหรือไม่ก็น้ำตาล... ขึ้นอยู่กับทรายที่นำมาผสม ว่ามีสีอ่อนหรือเข้ม

จะให้ผนังมีสีขาวต้องผสมกับทราย ที่เขาทำมาเพื่อใช้ผสมกับปูนซีเมนต์ขาวเฉพาะที่เรียกว่า Nature White ค่ะ

ถ้าไม่อยากยุ่ง ยากเรื่องหาทรายขาว คุณสามารถเลือกหาปูนซีเมนต์ขาวผสมสำเร็จรูปมาใช้ได้ เพราะเขาผสมทรายขาวมาให้เสร็จสรรพ...ฉีกถุงผสมน้ำได้เลย

 มีให้เลือก 3 แบบ...ฉาบทั่วไป-ฉาบละเอียด-ฉาบบางที่เรียกกันว่า skim coat

 การใช้งานปูนซีเมนต์ขาวสำเร็จรูป เหมือนปูนซีเมนต์สีเทาสำเร็จรูป ทุกประการ

แต่ผลลัพธ์จะต่างกันตรง...ใช้ปูนซีเมนต์ ขาวสำเร็จรูป ทำให้คุณได้ผนังที่มีสีขาว โดยไม่ต้องทาสี... ไม่ต้องห่วงเรื่องสีจะหลุดล่อน

สีจะอยู่ทนไปนาน เท่าอายุบ้าน... ไม่ต้องทาสีใหม่ทุก 5-10 ปี

และถ้าต้องการให้ผนังบ้านมีสีสัน สามารถนำสีฝุ่นสารพัดสี ที่คุณต้องการนำมาผสมในปูนซีเมนต์ขาวสำเร็จรูปได้เลย

แต่ผนังสีที่ได้ จากการใช้ปูนซีเมนต์ ขาว สีจะไม่เข้มเสมอเท่ากันเหมือนการทาสี

สีผนังบางส่วนจะอ่อน บางส่วนก็จะเข้ม เนื่องจากผนังอิฐดูดน้ำดูดปูนฉาบไม่เท่ากัน

เลยทำให้สีผนังมีความเข้มจาง คล้ายมีสายใยหมอกบางๆกระจายตัวบดบังสีไปทั่วทั้งผนัง...ให้ ความรู้สึกสุนทรีย์แบบศิลป์มากกว่าทาสี

ถ้ากล้าสู้ราคาและเบื่อพฤติกรรมช่างทาสี.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17546 วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549

เสาร์นี้มารู้จัก “อิฐมวลเบา”...วัสดุก่อสร้าง ที่กำลังได้รับความนิยม

โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา... เบากว่าอิฐมอญครึ่งหนึ่ง และเบากว่าอิฐบล็อกประมาณ 35%

หลายคนอาจจะสงสัยอิฐมวลเบา แต่ละก้อนใหญ่กว่าอิฐมอญ ใหญ่กว่าอิฐบล็อกตั้งเยอะ จะเบากว่าได้ยังไง

เบากว่า เพราะเขาเปรียบเทียบในขนาดที่เท่ากัน ผนังก่ออิฐมอญขนาด 1 ตารางเมตรจะหนักประมาณ 180 กก. ถ้าเป็นผนังอิฐบล็อก 1 ตารางเมตร จะหนักประมาณ 140 กก. ส่วนอิฐมวลเบานั้นหนักแค่ 90 กก. ต่อตารางเมตร

ด้วยความเบานี่ เอง การใช้อิฐมวลเบาเลย มีผลทำให้ค่าก่อสร้าง โครงสร้างอาคารถูกลง... ถ้าเป็นอาคารขนาดสูงตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไป ใช้อิฐมวลเบาก่อผนังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างได้ 5-10%

จะลดได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับความสูง... สูงมากก็ลดได้มาก แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างบ้านแค่ 1-3 ชั้น ช่วยลดค่าโครงสร้างไม่มาก ไม่ ค่อยเห็นผล

แต่ก็ได้รับความนิยมในการสร้างบ้าน เพราะวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน นำมาก่อผนังแล้วช่วยให้บ้านเย็น ช่วยประหยัดเงินค่าไฟแอร์ค่ะ

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ทางด้านอาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ศึกษา เปรียบเทียบบ้านก่ออิฐมอญฉาบปูน กับบ้านก่ออิฐมวล เบาฉาบปูน เมื่อปี 2545 โดยใช้บ้านขนาดเดียวกัน ติดแอร์เหมือนกันทั้ง 4 จุดคือ ในห้องนอน 3 ห้อง กับห้องรับแขก+รับประทานอาหารอีก 1 ห้อง

วัดผลการใช้ ไฟฟ้าตลอด 1 ปี ปรากฏ ว่าบ้านก่อผนังด้วยอิฐมวลเบา แอร์กินไฟน้อย กว่า...ช่วยประหยัดเงินค่าไฟได้ถึง 24.18%

ถึงจะเป็นวัสดุก่อสร้างที่ช่วยประหยัดค่าไฟและกำลังได้รับความนิยมก็ตาม แต่ถ้าคิดจะนำมาใช้กับบ้านของคุณ มีข้อควรระวังที่ควรทำความรู้จักให้ถ่องแท้

ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะเสียใจ สูญเงินเพราะความไม่รู้ได้...ติดตามเสาร์หน้าค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17553 วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549

อิฐมวลเบาปลอม

 แม้อิฐมวลเบาจะไม่ใช่วัสดุ ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน กันความร้อน ได้ยอดเยี่ยมเท่า วัสดุบางชนิดก็ตาม

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับวัสดุก่อผนัง ที่ทำให้ได้ ผนังแข็งเหมือนหินถูกใจคนไทย ต้องยอมรับ อิฐมวลเบาเป็นวัสดุ ที่ทำให้บ้านเย็นได้ดีที่สุด... ช่วยประหยัดค่าไฟแอร์ได้ 24.18% เมื่อเปรียบเทียบกับอิฐมอญ

แต่นั่นแหละ ได้รับความนิยมมากขึ้น ขายดีขึ้น

สิ่งที่ตามมา...มีการทำอิฐมวลเบาปลอมมาหลอกขายเราค่ะ

จะว่าปลอมก็ไม่ถูกซะทีเดียว...ต้องบอกว่า ไม่ได้มาตรฐาน น่าจะเหมาะกว่า

เอามาใช้ก่อผนังบ้านแล้ว บ้านจะพังเอาได้ง่ายๆ เพราะแตกหักร้าวง่าย ไม่แข็งแรง เหมือนอิฐมวลเบามาตรฐาน

เนื่องจากผู้ผลิตบางรายต้องการขายสินค้าในราคาถูก เวลาผลิตจึงละเลยขั้นตอนสำคัญ นั่นก็คือ...ไม่บ่มน้ำให้อิฐมวลเบา

อิฐมวลเบาความจริงไม่ใช่อิฐ แต่เป็นคอนกรีต ทำมาจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยใช้เทคนิคเติมสารเคมีให้คอนกรีตพองฟู มีรูพรุนเล็กๆ เกิดขึ้นในเนื้อคอนกรีต มันเลยมีน้ำหนักเบา และมีคุณสมบัติเป็นฉนวนแบบเดียวกับโฟม

จะเรียกง่ายว่า “โฟมคอนกรีต” ก็ได้

“แม่ทองต่อ” เขียนย้ำมาหลายหน ไม่ว่าอะไรถ้าทำจากปูนซีเมนต์ เมื่อแข็งตัวต้องบ่มน้ำอย่างน้อย 7 วัน ไม่อย่างนั้นปูนซีเมนต์จะไม่แข็งแรง และเกิดแตกร้าวได้ง่าย

เมื่ออิฐมวลเบาทำจากปูนซีเมนต์ก็ต้องบ่มน้ำ แต่ไม่ได้บ่มน้ำเหมือนที่เราทำกัน...เขาบ่ม โดยใช้เครื่องจักรอบไอน้ำแรงดันสูงค่ะ

เพราะเป็นวิธีที่ทำ ให้ปูนซีเมนต์เปลี่ยนสภาพทางเคมีให้เป็นผลึกแข็งแรงได้เร็ว...บ่มแค่ 10 ชั่วโมง ก็ได้ปูนซีเมนต์ แข็งแรงเท่าบ่มด้วยวิธีธรรมดา 7 วันค่ะ

เมื่อบ่มด้วยเครื่องจักร อิฐมวลเบาจะเปลี่ยนไปเป็นสีขาว

ไม่เหมือนของปลอมจะมีสีเทา...เหมือนสีปูนอย่างที่เปรียบเทียบให้เห็นในรูป

ฉะนั้น คิดจะนำอิฐมวลเบามาก่อสร้างบ้าน ต้องสังเกตให้เป็น ดูให้ดี เพื่อเราจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17560 วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549

อิฐเบาราคาเบามั้ย?

ในบรรดาวัสดุก่อสร้าง ที่ทำให้ผนังบ้านเราแข็ง เหมือนหินถูกใจคนไทย... อิฐมวลเบาดีกว่าอิฐมอญ และอิฐบล็อก

ในแง่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน เลยช่วยให้ บ้านเย็น และประหยัดเงินค่าไฟแอร์ได้ดีกว่า

เมื่อดีกว่าย่อมต้องมีคำถาม... แล้วราคาล่ะ ชวนให้ใช้แค่ไหน

ถ้าพูดถึงราคาอิฐอย่างเดียว...ต้องบอก ว่าแพง

ตารางเมตรละ 140 บาท...ในขณะที่ราคาอิฐมอญอยู่ที่ 80 บาท อิฐบล็อกตารางเมตรละ 50 บาท

แต่การสร้างบ้านนั้น ผู้เชี่ยวชาญบริษัท Q-CON ผู้ผลิตอิฐมวลเบารายใหญ่ ของประเทศไทยบอกว่า จะมองที่ราคาวัสดุตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้...ต้องมองตัวอื่นประกอบด้วย

ผนังก่ออิฐฉาบปูนจะดูแค่ราคาอิฐอย่างเดียวไม่ได้...ต้องเอาราคาปูน ค่าแรงมาประกอบด้วยค่ะ

อิฐมวลเบามีขนาดใหญ่กว่าอิฐมอญ ใหญ่กว่าอิฐบล็อก

เอามาก่อผนัง...อิฐมวลเบาเลยใช้ปูนน้อยกว่า ใช้เวลาเร็วกว่า จึงประหยัดค่าปูนและค่าแรงช่างไปในตัว เมื่อคิดรวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าอิฐ ค่าปูนก่อปูนฉาบ ค่าแรงก่อฉาบ ได้ผลลัพธ์ออกมาโดยประมาณดังนี้ค่ะ

ผนังอิฐมอญฉาบปูนเสียค่าใช้จ่าย 380 บาทต่อตารางเมตร

ผนังอิฐบล็อกตารางเมตรละ 340 บาท

ผนังอิฐมวลเบา 400 บาท ต่อตารางเมตร...แพงกว่าอิฐมอญ 5%

ปกติบ้าน 2 ชั้น แบบ 3 ห้องนอน 2

ห้องน้ำ จะมีเนื้อที่เป็นผนังประมาณ 350 ตารางเมตร...สร้าง ด้วยอิฐมวลเบาจะเสียค่าใช้จ่ายเรื่องผนัง แพงกว่าอิฐมอญ 7,000 บาท...แพงกว่าอิฐบล็อก 21,000 บาท

เสียเงินแพงกว่ากันขนาดนี้ คุณคิดว่าคุ้มไหมที่จะเอามาสร้างบ้านที่ช่วยให้บ้านเย็น และประหยัดค่าไฟแอร์ได้ 24%

เชิญคิดตัดสินใจกันเองค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17566 วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

ปูนก่ออิฐมวลเบา

สร้างบ้านด้วยอิฐมวลเบาจะแพงกว่า อิฐมอญประมาณ 5%

ราคาแพงต่างกันไม่มาก แต่ช่วยให้บ้านเย็นและ ประหยัดเงิน ค่าไฟแอร์ได้ตั้ง 24%... หลายคนอาจจะคิดว่าคุ้มค่าน่าใช้

จะเอาอิฐมวลเบามาสร้างบ้าน... มีข้อคิดคำเตือนที่ควรรู้ค่ะ

เพราะถ้าเอาไปใช้งานไม่ถูก ก่อสร้างผิดวิธี ผนังอิฐมวลเบาที่คิดว่าดี... อาจจะทำให้ คุณผิดหวังได้ค่ะ

ก่อนอื่นต้องรู้และจำให้ขึ้นใจ อิฐมวลเบาถึงจะมีชื่อว่าอิฐนำหน้า แต่มันไม่ใช่อิฐที่ทำจากดินเผา

อิฐมวลเบาทำมาจากปูนซีเมนต์ ชื่อที่ถูกต้องเรียกว่า “คอนกรีตมวลเบา”

ฉะนั้นจะก่อผนังแบบอิฐมอญไม่ได้

เอาปูนซีเมนต์ผสมทรายผสมน้ำมาก่อผนังเหมือนอิฐมอญไม่ได้

เพราะปูนผสมทรายจับเกาะคอนกรีตมวลเบาได้ไม่ค่อยดี... ขืนเอามาก่อจะทำให้ผนังบ้านของเราโยกคลอนไม่แข็งแรง

เนื่องจากปูนซีเมนต์ทั่วไปจะมีคุณสมบัติจับเกาะอิฐ หิน ทรายได้ดี...แต่จับคอนกรีตด้วยกันมักจะหลุดล่อนได้ง่าย

จะก่อผนังคอนกรีตมวลเบาให้แข็งแรง ผู้เชี่ยวชาญบริษัท Q - CON ผู้ผลิตอิฐมวลเบารายใหญ่ของประเทศไทย แนะให้ใช้...ปูนกาว หรือปูนสำหรับก่อคอนกรีตมวลเบาโดยเฉพาะ

เนื่องจากเป็นปูนมีการผสมกาวพิเศษ ช่วยให้ปูนมีคุณสมบัติจับเกาะคอนกรีตมวลเบา ได้เหนียวแน่นคงทน ซึ่งจะมีการผลิตออกมาขายในรูปปูนสำเร็จรูป...ฉีกถุงผสมน้ำ เอาไปใช้ก่อผนังได้เลย

ได้ปูนมาแล้ว เวลาก่อก็ต้องมีเทคนิคเฉพาะ ใช้ เครื่องมือเฉพาะสำหรับก่อคอนกรีตมวลเบาด้วยค่ะ

ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้นมาว่ากันต่อคราวหน้าค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17574 วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2549

เกรียงก่ออิฐเบา

สร้างบ้านด้วย อิฐมวลเบา...เอาปูนซีเมนต์ ธรรมดามาก่อผนัง เหมือนอิฐมอญไม่ได้

ต้องใช้ปูนกาวสำหรับ ก่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะเท่านั้น ผนังบ้านของคุณถึงจะแข็งแรง ก่อไปแล้วอิฐมวลเบา ไม่โยกคลอนหลุดล่อน

และไม่เพียงต้องใช้ปูนก่อ โดยเฉพาะเท่านั้น ...เกรียงอุปกรณ์ ที่จะนำมาใช้ในการก่อผนัง ต้องเป็นเกรียงเฉพาะอีกเช่นกัน

เรียกว่า...เกรียงหวี!

รูปร่างหน้าตาจะเหมือนอย่างในภาพประกอบ แน่นอนค่ะหลายคนเป็นต้องสงสัย ทำไมต้องใช้ เกรียงพิเศษ จะเอาเกรียงเหล็กใบโพธิ์ ที่ช่างใช้ก่ออิฐมอญไม่ได้หรืออย่างไร

จะเอามาใช้ก่อก็ทำได้...แต่คุณจะไม่ได้ผนังบ้านที่สวย ไม่ได้ผนังที่แข็งแรง ที่สำคัญจะทำให้คุณเปลืองเงินค่าปูนก่อมากกว่าใช้เกรียงหวีค่ะ

เพราะการก่อผนังอิฐมวลเบา ต้องก่อให้ปูนหนาแค่ 2 - 3 มม.

ไม่เหมือนก่ออิฐมอญที่ใช้ปูนหนาถึง 1.5-2 ซม. หรือ 15-20 มม. ใช้ปูนก่อหนาต่างกันตั้ง 7-8 เท่า

เหตุที่ก่ออิฐมวลเบาต้องก่อบาง พอๆกับกระดาษแข็ง ผู้เชี่ยวชาญบริษัท Q-CON อธิบายว่า ก็ปูนที่ใช้ก่อเป็นปูนกาว ให้นึกถึงเราเอากาวไปทากระดาษ 2 แผ่นให้ติดกัน

ทากาวบางๆ กาวแห้งไวกระดาษติดกัน แข็งแรง...แต่ถ้าทากาวหนา กว่ากาวจะแห้งใช้เวลานาน แถมกระดาษจะไม่ค่อยติดกัน ขนาดปล่อยทิ้งไว้ ข้ามวัน ดึงออกมา กระดาษจะหลุดออกจากกัน

อิฐมวลเบาก็เช่นกัน...ก่อปูนบางอิฐจะ ติดทนแข็งแรงกว่าก่อ ปูนหนา

แต่จะก่อให้บางได้ ต้องใช้เกรียงที่เขาออกแบบมาเป็นพิเศษให้ก่อปูนได้บาง

เอาเกรียงใบโพธิ์มาใช้ ช่างจะก่อบางไม่ได้เพราะเคยชินกับการก่อหนา...เมื่อก่อหนาไปแล้ว เวลาเคาะให้อิฐมวลเบาติดกัน จะมีปูนทะลักล้นไหลหกทิ้งออกมาก

ปูนกาวที่หกทิ้งไปนั่น เงินของเราทั้งนั้น... มันเลยจำเป็นต้องใช้เกรียงหวีค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ  ปีที่ 57 ฉบับที่ 17581 วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2549

ก่อหนา..บ้านร้อน

เอาอิฐมวลเบามาสร้างบ้าน มีข้อควรระวังหลายอย่าง

ก่อผนังต้องใช้ปูนกาว สำหรับก่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะ จะเอาเกรียง ใบโพธิ์ที่ใช้ก่ออิฐมอญ มาก่อไม่ได้ ต้องใช้เกรียงหวีที่ออกแบบมา สำหรับก่ออิฐมวลเบาเท่านั้น

เพื่อปูนที่ใช้ในการก่อผนังอิฐมวล จะได้บางเป็นพิเศษ...หนาแค่ 2-3 มม. ไม่ใช่หนา 15-20 มม. เหมือนอย่างก่ออิฐมอญ

ความจำเป็นของการก่อปูนบางไม่ได้มีแค่ให้ปูนกาวจับอิฐมวลเบา ได้มั่นคงเพื่อเราจะได้ผนังบ้านที่แข็งแรงเท่านั้น

การก่อปูนบางยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการ นั่นคือ...ช่วยทำให้บ้านเย็นและ ประหยัดเงินค่าไฟแอร์อีกด้วย

หลายคนอาจสงสัย...ผนังอิฐมวลเบา ก่อปูนบาง ก่อปูนหนา ทำให้บ้านร้อน-เย็นต่างกันได้ อย่างไร?

ไม่ต้องสงสัยหรอกค่ะ เพราะนี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่ผู้เชี่ยวชาญ Q-CON บริษัทผลิตอิฐมวลเบารายใหญ่ของบ้านเราอธิบายว่า อิฐมวลเบาแม้จะมีคุณสมบัติเป็นฉนวน ช่วยทำให้บ้านเย็นได้ก็จริง

แต่ปูนที่นำมาใช้ก่อประสานให้อิฐมวลเบายึดจับเกาะเป็นแผ่นผนังให้แข็งแรงได้นั้น ...ปูนกาวทำมาจากปูนซีเมนต์

ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัตินำความร้อนได้ดี

ไม่เชื่อก็ลองเอามือไปสัมผัสผนังก่ออิฐมอญฉาบปูนที่ถูกแดดเผาดูก็ได้...แล้วจะรู้ปูนซีเมนต์ ทำให้บ้านร้อนได้ขนาดไหน

ปูนซีเมนต์นำความร้อนได้ดี เมื่อเราเอามาก่อหนา เท่ากับว่าผนังอิฐมวลเบามีช่องทางให้ความร้อนจากภายนอกแทรกซึมเข้าบ้านได้มาก

แต่ถ้าก่อบาง...ความร้อนจะแทรกซึมเข้าบ้านผ่านทางปูนก่อได้น้อย

ฉะนั้น อุตส่าห์ลงทุนซื้ออิฐมวลเบามา สร้างบ้าน คุณจะได้บ้านเย็นสมใจ...ต้องให้ช่างก่อบางเท่านั้นค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ ปีที่ 57 ฉบับที่ 17588 วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2549

อิฐเบาฐานต้องดี

คิดจะเอาอิฐมวลเบามาสร้างผนังให้บ้าน เย็นสมราคา มีเคล็ดลับสำคัญ...ต้องก่อบาง

เพราะก่อปูนหนาบ้านจะร้อนกว่าก่อบาง

เสาร์นี้มารู้จักขั้นตอนการก่ออิฐมวลเบาแบบถูกวิธี เพื่อบ้านเราจะได้ผนังที่แข็งแรง เรียบสวย ฉาบปูนไปแล้วไม่กลัวริ้วรอยแตกแยกให้เราได้เห็นค่ะ

ก่อนจะเริ่มลงมือก่ออิฐมวลเบา ผู้เชี่ยว-ชาญ Q-CON แนะนำสิ่งแรกที่ช่างควรทำ... ปรับระดับฐานที่จะก่ออิฐมวลเบาชั้นแรกค่ะ

ฐานที่ต้องปรับระดับนั่นก็คือ สันส่วนบนของคานที่เราจะก่ออิฐมวลเบานั่นแหละ

ต้องปรับก่อนเพราะว่าคานที่หล่อเสร็จแล้วสันส่วนบนมักจะไม่ราบเรียบเสมอกัน ประกอบกับอิฐมวลเบาที่เอามาก่อ ผลิตจากโรงงานเป็นก้อนที่มีขนาดใหญ่ มีขนาดตรงเท่ากันทุกก้อน

ถ้าฐานไม่ราบเรียบ เอาอิฐมวลเบาไปวางก่อก็จะโย้เย้เบี้ยวตาม

การจะก่อให้ตรงได้แนวได้ระดับจึงเป็นเรื่องยาก ทำให้เสียเวลาการทำงาน เปลืองค่าแรง มากขึ้น และทำให้การฉาบผนังให้เรียบสวยไม่แตกร้าวทำได้ยากตามมา

ฉะนั้น เพื่อให้การก่อผนังได้ระดับ ตรงแนวเรียบสวยและรวดเร็ว... จึงจำเป็นต้องปรับฐานที่จะก่ออิฐมวลเบาเสียก่อนค่ะ

การปรับระดับนั้นไม่ยุ่งยาก...แค่วัดตั้งระดับน้ำ ขึงเส้นเอ็นหรือเชือกให้สูงจากส่วนบนของคานประมาณ 3-4 ซม. จากนั้นก็เอา ปูนซีเมนต์ธรรมดาผสมทราย+น้ำ มาก่อปรับระดับให้ได้แนว ตรงตามเส้นเอ็นที่ขึงไว้

เมื่อฐานแห้งแข็งได้ที่สามารถลงมือก่ออิฐ มวลเบาได้เลย โดยไม่ต้อง กลัวว่าผนังจะบิดเบี้ยวเอียงกระเท่เร่เหมือนอิฐมอญ

เวลาก่อก็ไม่จำเป็นต้องมาเสียเวลาขึงเส้นเอ็นวัดระดับน้ำถี่บ่อยเหมือนก่ออิฐมวล ...เพราะอิฐมวลเบาเรียบตรง ไม่คดบิดเบี้ยวเหมือนอิฐมอญ

นี่เป็นอีกเหตุผลใช้อิฐมวลเบา...งานเสร็จเร็วไม่เปลืองค่าแรง.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ ปีที่ 57 ฉบับที่ 17595 วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2549

อิฐเบาอย่าแช่น้ำ

ร่ายยาวเรื่องอิฐมวลเบามาถึงเสาร์ นี้...ได้เวลาเอามาก่อเป็นผนังแล้วค่ะ

อิฐมวลเบาถึงจะมีชื่อเหมือนอิฐ แต่เวลานำมาก่อผนัง... จะทำเหมือนอิฐมอญ อิฐบล็อกไม่ได้

สิ่งที่เรารู้กันมาโดยตลอด ก่อนจะก่อผนัง...ช่างจะต้องนำอิฐมอญ อิฐบล็อกไปแช่น้ำให้อิ่มตัวเสียก่อน ถึงนำมาใช้ก่อผนังได้

เนื่องจากอิฐพวกนี้มีความสามารถในการดูดอมน้ำสูงมาก

ถ้าไม่เอาไปแช่น้ำเสียก่อน...อิฐจะดูดน้ำปูนจากปูนก่อไปจนหมด

การที่อิฐดูดน้ำจากปูนในขณะที่ปูนยังไม่แข็งตัว ส่งผลให้ส่วนผสมของปูนก่อผิดเพี้ยน ปูนก่อจะแห้งและแตกร่วน...แน่นอนค่ะ ทำให้เราได้ผนังบ้านที่ไม่แข็งแรง

แต่ถ้าเอาอิฐมวลเบามาก่อผนัง...ต้องคิดอีกแบบ

เพราะผู้เชี่ยวชาญ QCON อธิบาย... อิฐมวลเบาถึงจะมีรูพรุนจนทำให้เราคิดว่า มันน่าจะดูดน้ำได้มาก...แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันดูดน้ำน้อยมาก น้อยกว่าอิฐมอญประมาณ 1 : 3

ฉะนั้น เอาอิฐมวลเบามาก่อผนัง...จึงไม่จำเป็นต้องเอาไปแช่น้ำ

และเราเจ้าของบ้านต้องระวัง...อย่าให้ช่างรู้ไม่เท่าทัน เอาอิฐมวลเบาแช่น้ำมาก่อผนังโดยเด็ดขาด!!!

เหตุผลก็เพราะเอาอิฐมวลเบาแช่น้ำมาก่อผนัง จะมีน้ำล้นไหลเยิ้มออกมา ทำให้ปูนกาวที่ใช้ก่อผนังอิฐมวลเบาแห้งแข็งตัวช้า

การก่อผนังแทนที่จะเร็วก็ต้องช้าตาม...เราต้องเสียเงินเปลืองค่าแรงเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ น้ำจากอิฐมวลเบาจะไหลเยิ้มมาปนผสมกับปูนกาว

สิ่งที่ตามมา...ความเข้มข้นของกาวในปูนกาวจะเจือจาง ทำให้ปูนกาวยึดจับเกาะอิฐมวลเบาได้ไม่มั่นคงแข็งแรงเหมือนที่เราต้องการ

เราเลยได้บ้านที่มีผนังไม่แข็งแรงค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17609 วันเสาร์ ที่ 8 เมษายน 2549

อิฐเบาต้องมีเอ็น

ผนังอิฐมวลเบาจะแข็งแรง ไร้รอยแตก ร้าว ไม่เพียงจะต้องมีเหล็กหนวดกุ้งเท่านั้น... เสาเอ็นและคานทับหลังก็ต้องมี

ไม่ต่างจากบ้านสร้างด้วยอิฐมอญ อิฐบล็อกหรอกค่ะ

เพียงแต่ผนังก่ออิฐมวลเบา ไม่ต้องมีเสาเอ็น และคานทับหลังถี่เหมือนอิฐมอญ

ผนังอิฐมอญ...ทุกพื้นที่ประมาณ 4 ตารางเมตร ต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง

ผนังอิฐมวลเบา...ก่อได้สูง 3 เมตร ต้องมีคาน ทับหลัง ก่อไปได้ยาว 3 เมตร ต้องมีเสาเอ็น หรือทุกพื้นที่ประมาณ 9-10 ตารางเมตร ต้องมีเสาเอ็นกับคานทับหลัง

หลายคนอาจสงสัยในเมื่อการก่อผนังอิฐมวลเบา ก่อปูนบาง แถมยังใช้ปูนพิเศษไม่ใช่ปูนซีเมนต์ธรรมดา โอกาสที่ปูนจะหดตัวทำให้ผนังแตกร้าวเหมือนอย่างผนัง อิฐมอญแทบไม่มี...จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องมีเสาเอ็นกับคานทับหลัง

ข้อสงสัยนี้ ผู้เชี่ยวชาญ Q-CON อธิบาย ถ้าไม่ต้องการผนังแข็งแรงได้มาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

แต่ถ้าอยากได้ผนังแข็งแรง ป้องกันลมพายุและแรงสั่นสะเทือนจากรถที่วิ่งผ่านบ้านคุณล่ะก็ จำเป็นต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่าย...ลองหลับตานึก ถึงเวลาเราเอากระดาษ A4 ขึ้นมาวางนอนในแนวตั้งแบบเดียวกับผนังบ้าน หายใจรดเบาๆ กระดาษจะเด้งโค้งบิดงอ จะให้กระดาษตั้งตรงได้จำเป็นต้องมีเสาโครงแข็งๆอยู่ตรงกลาง มันถึงจะไม่โค้งบิดงอ

ผนังบ้านก็เช่นกัน ถึงจะหนากว่ากระดาษ แต่ขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 หลายเท่าตัว ถ้าไม่มีเสาเอ็นกับคานทับหลังเป็นโครง เจอลมแรงๆ หรือแรงสั่นสะเทือนของรถที่วิ่งไปวิ่งมา ผนังบ้านมันก็จะมีโอกาสโยกคลอนเหมือนกระดาษ

ด้วยเหตุผลนี้...ผนังบ้านต้องมีเสาเอ็นกับคานทับหลังค่ะ

แต่ถ้าเป็นผนังบ้านทั่วไป ที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดประมาณ ยาว 4 เมตร สูง 3 เมตร พื้นที่ขนาดนี้ผนังอิฐมวลเบามีแค่เสาเอ็นหรือคานทับหลังอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว

ผนังมีพื้นที่เล็กกว่า 9 ตารางเมตร...ไม่ ต้องมีค่ะ

ส่วนผนังด้านที่มีช่องประตูหน้าต่าง เสาเอ็นกับคาน ทับหลังต้องเป็นยังไง...ติดตามเสาร์หน้าค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17616 วันเสาร์ ที่ 15 เมษายน 2549

อิฐเบากับช่องประตู

เสาร์นี้มาว่ากันต่อเรื่องเสาเอ็นกับคานทับหลังที่ค้างไว้

ผนังก่ออิฐมวลเบาทุก 9-10 ตารางเมตรต้องมีเสาเอ็นกับคานทับหลัง ใช้ได้เฉพาะกับกรณีของผนังด้านที่ไม่มีประตูหน้าต่างเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นผนังด้านที่มีช่องประตูหน้าต่าง...ตำแหน่งของเสาเอ็นกับคานทับหลังจะเปลี่ยน ไปค่ะ

เปลี่ยนไปตามตำแหน่งและขนาดของวงกบประตูหน้าต่าง

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในกรณีนี้ เสาเอ็นกับคานทับหลังไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงทำให้ผนังแข็งแรงอย่างเดียวเท่านั้น

ยังต้องทำหน้าที่เป็น กรอบเฟรมบังคับไม่ให้ วงกบประตูหน้าต่างบิดเบี้ยว เสียรูปทรงเนื่องจากต้องรับน้ำหนักผนังอิฐมวลเบาที่อยู่ด้านบน จนทำให้เราเปิด-ปิดประตูหน้าต่างไม่ได้

และยังทำหน้าที่บังคับไม่ให้วงกบประตูหน้าต่างขยายตัวมาดันให้ปูนฉาบแตกร้าว

เสาเอ็นกับคานทับหลังควรอยู่ตำแหน่งไหน ดูในภาพประกอบจะเข้าใจมากกว่าค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17623 วันเสาร์ ที่ 22 เมษายน 2549

เหล็กกรงไก่กันร้าว

ผนังก่ออิฐมวลเบา มีแค่เสาเอ็นกับคานทับหลังไม่สามารถจะหยุดการแตกร้าวบนผนังได้ 100%

โดยเฉพาะผนังด้านที่มีประตูหน้าต่าง ต้องมี “เหล็กกรงไก่” มาปะติดไว้บนอิฐมวลเบาตามเหลี่ยมหักมุมรอบๆวงกบประตูหน้าต่างทุกมุม

เพื่อทำหน้าที่เสริมแรงยึดให้กับปูนฉาบ...ผนังบ้านถึงไม่มีรอยแตกร้าวค่ะ

เนื่องจากวงกบประตูหน้าต่าง ทำจากไม้ ถูกแดดถูกฝน วงกบจะมีการยึดหดตัวตลอดเวลา วงกบจึงมีโอกาสขยายตัวไปดันให้ปูนฉาบแตกร้าวได้

ประกอบกับการเปิด-ปิดประตูหน้าต่างแต่ละครั้ง มีการใช้แรงดึงผลักบานประตูมากระแทก วงกบบ่อย ฉะนั้น ผนังปูนฉาบที่อยู่ใกล้วงกบประตูหน้าต่าง จึงมีโอกาสร้าวได้ง่ายกว่าผนังในจุดอื่น

แค่นั้นไม่พอ ปูนฉาบก็ยังมีจุดอ่อนในเรื่อง นำไปฉาบในพื้นที่มีการหักมุม อย่างบริเวณมุมของวงกบ พื้นที่อย่างนี้ปูนฉาบจะมีแรงยึดจับได้น้อยกว่าปกติ

เจออะไรกระแทกนิดหน่อย จะเกิดเป็นรอยแตกร้าวขึ้นตรงมุมแล้วแยกเฉียงไปแนวยาว เหมือนที่เรามักจะเห็นกันตามบ้านทั่วไป

ถ้าไม่อยากให้ผนังเรา มีรอยปูนฉาบแตกแยก จำเป็นต้องมีเหล็กกรงไก่มาเป็นคนกลาง ช่วยให้ปูนฉาบมีแรงสามัคคียึดจับกันได้ดีค่ะ

บ้านผนังอิฐฉาบปูน ไม่ว่าจะสร้างด้วยอิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐมวลเบา ถ้ามีการฉาบปูนล่ะก็ จงจำไว้ว่า...ตรงเหลี่ยมมุมของวงกบประตูหน้าต่าง ต้องมีเหล็กกรงไก่เสมอ

เหล็กกรงไก่คืออะไร...เหล็กลวดตาข่าย เส้นเล็กๆ ที่เขาเอามาทำกรงไก่ กรงนกนั่นแหละ

ก่อผนังเสร็จเรียบร้อยก่อนจะลงมือฉาบ ให้เอาเหล็กกรงไก่ขนาดสัก 20๚50 ซม. มาปะติดไปบนอิฐบริเวณมุมวงกบ โดยใช้ตะปู
คอนกรีตตอกยึดเหล็กกรงไก่เท่านั้นเอง.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17630 วันเสาร์ ที่ 29 เมษายน 2549

เหล็กกรงไก่ (2)

ผนังก่ออิฐมวลเบาจะไร้รอยร้าวรอยแตก ไม่เพียงต้องมีเหล็กกรงไก่ ปะติดตามเหลี่ยมมุมรอบๆ วงกบประตูหน้าต่างเท่านั้น

ผนังบริเวณที่มีการฝังท่อรอยสายไฟฟ้า ฝังท่อประปา รวมทั้งผนังในส่วนที่ ก่ออิฐมวลเบาไปชนเสมอกับเสาและคาน

ต้องมีการติดตั้งเหล็กกรงไก่... เหมือนอย่างในภาพประกอบ

ถ้าไม่มี...ผนังอิฐมวลเบาจะมีรอยแตกแยกให้เราได้เห็น

ทั้งนี้ เนื่องจากการฝังท่อรอยสายไฟฟ้า หรือฝังท่อประปาไว้ในผนังก่ออิฐมอญนั้น จะต้องมีขูดเซาะร่องเพื่อฝังท่อ เมื่อฝังท่อเสร็จแล้ว ช่างจะต้องเอาปูนซีเมนต์ผสมทรายมาอุดปิดร่องให้เสมอกับแนวอิฐ

 อิฐมวลเบากับปูนซีเมนต์ที่เอาไปอุดนั้น... คุณสมบัติทางกายภาพไม่เหมือนกัน

มีการยืดหดตัวไม่เท่ากัน เมื่อเอาปูนไปฉาบทับ... ปูนฉาบจะถูกดึงให้ยืดหดตัวไม่เท่ากันไปด้วย

ผลที่ตามมา...ปูนฉาบจะมีรอยแตกร้าวให้เราได้เห็น ในภายหลัง

ดังนั้น จำเป็นต้องมีเหล็กกรงไก่มาเป็นตัวกลางช่วยยึด โยง เพื่อปูนฉาบจะได้สามัคคี ไม่แตกแยกจากกันค่ะ

บริเวณรอยต่อที่อิฐมวลเบามาบรรจบเสมอในระนาบเดียวกับคานและเสาก็ เช่นกัน

เนื้อเสาและคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คุณสมบัติไม่เหมือนกับ คอนกรีตมวลเบา...ถูกแดดถูกฝน ยืดหดไม่เท่ากัน ดึงให้ปูนฉาบแตกร้าวได้

ฉะนั้น อย่าให้ช่างลักไก่...ไม่ใส่ เหล็กกรงไก่นะคะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17652 วันเสาร์ ที่ 20 พฤษภาคม 2549

ตรวจก่อนฉาบ

เสาร์นี้กลับมาว่ากันต่อ เรื่องอิฐมวลเบา

ที่ผ่านมา “แม่ทองต่อ” ได้พูดถึงเทคนิคการก่อผนังอิฐมวลเบาไปจน หมดแล้ว...คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนฉาบผนังอิฐมวลเบากันแล้วค่ะ

แต่ก่อนจะให้ช่างลงมือฉาบ...สิ่งสำคัญที่สุดต้องตรวจผนังเสียก่อน

ตรวจดูว่า...ผนังมีความพร้อมที่จะฉาบปูนแล้วหรือยัง

การตรวจผนังทำไม่ยากเลยค่ะ ถ้าช่างก่อผนังอิฐมวลเบาทำทุกอย่างได้ครบตามที่ผู้เชี่ยวชาญ Q-CON แนะนำ...ใช้ปูนสำหรับก่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะ ต้องก่อบาง มีเหล็กหนวดกุ้ง มีเสาเอ็นคานทับหลัง มีเหล็กกรงไก่

เมื่อช่างทำทุกอย่างได้ ครบ การตรวจเราทำแค่เพียงไปยืนอยู่ตรงผนัง ที่ก่อเสร็จแล้ว...ยืนมองดูผนังส่วนไหนบ้าง มีรูรั่วให้แสงลอดผ่านเข้ามาได้หรือไม่

ถ้ามี ต้องใช้ช่างเอาปูนมาอุดปิดให้เรียบร้อย ...เพราะปล่อยทิ้งไว้ รูรั่วนั้นจะสร้างปัญหาตามมาภายหลัง ฝนสาดน้ำจะรั่วเข้าบ้านผ่านทางรูนั้นได้ แม้จะฉาบปูนทับก็ตามที

เพราะการฉาบปูนอิฐมวลเบาต้องฉาบบาง ปูนฉาบที่ปิดทับรูรั่ว โดนอะไรนิดหน่อยจะแตกหักเป็นรูโบ๋ให้น้ำฝนรั่วซึมเข้าบ้านค่ะ

ผนังอิฐมวลเบาตรงไหนมีรอยแตกบิ่นแหว่ง ก็ต้องให้ช่างเอาปูนอุดซ่อมแต่งผิวให้เรียบสวยเสมอผิวอิฐมวลเบา

สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ช่างบางคนจะมองว่าไม่ สำคัญ ผนังปูนก่อมีแตกมีบิ่นบ้างเป็นธรรมดา ไม่เห็นเป็นไร เพราะยังไงก็ต้องฉาบปูนปิดทับอยู่แล้ว

ช่างอ้างเหตุผลอย่างนี้ จงอย่าไปเชื่อ

และจงจำไว้ว่า...การสร้างบ้านด้วยอิฐมวลเบา ขั้นตอนการก่อผนังจะต้องพิถีพิถันมากกว่าฉาบ

ไม่เหมือนสร้างบ้านด้วยอิฐมอญหรืออิฐบล็อก...ขั้นตอนฉาบจะสำคัญกว่า

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากผนังอิฐมวลเบาต้องฉาบบาง จะฉาบได้บางเนียนเรียบสวย การก่ออิฐต้องตรงเรียบสวย ไม่บิดเบี้ยว เป็นหลุมบ่อ

และอีกเหตุผลที่การก่ออิฐมวลเบาสำคัญกว่าฉาบ...เนื่องจากผนังอิฐมวลเบาไม่ต้องฉาบปูนก็ได้

อย่าเพิ่งงง...เสาร์หน้ามาว่ากันต่อค่ะ.


แม่ทองต่อ พ่อประหยัด  ไทยรัฐ   ปีที่ 57 ฉบับที่ 17659 วันเสาร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2549

ฉาบอิฐเบา

เสาร์ที่แล้ว “แม่ทองต่อ” ให้ข้อเตือนใจสร้างบ้านด้วยอิฐมวลเบา ขั้นตอนการก่อจะต้องพิถีพิถันมากกว่าการฉาบ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากผนังอิฐมวลเบาก่อเสร็จแล้ว เราไม่จำเป็นต้องฉาบปูนก่อได้

ถ้าคุณต้องการจะปูกระเบื้องเซรามิกบนผนัง สามารถให้ช่างปูกระเบื้องปิดทับลงไป บนอิฐมวลเบาได้เลย โดยไม่ต้องฉาบปูนก่อน

หรือจะทาสีเนื้อหนาที่เรียกกันว่า สีนูน หรือ สี TEXTURE ที่มีลวดลายหลายรูปแบบ คุณสามารถกลิ้งสีทับไปบนผนังอิฐมวลเบาได้เลย โดยไม่ต้องฉาบปูนแต่อย่างใด

ยกเว้นบริเวณที่มีการติดเหล็กกรงไก่ ผู้เชี่ยวชาญ Q-CON แนะนำให้ เอาปูนก่ออิฐมวลเบาป้ายปิดทับเหล็กกรงไก่ และตกแต่งผิวบริเวณนั้นให้เรียบสวย ทิ้งไว้ให้แห้งสัก 1-2 วัน ก่อนจะลงมือทาสีนูนทับลงไปค่ะ

นี่เป็นความพิเศษของผนังก่อด้วยอิฐมวลเบา ที่ผนังก่ออิฐมอญไม่สามารถทำได้... จะทาสีนูนได้ จะปูกระเบื้องได้ ต้องฉาบปูนก่อน เพราะอิฐมอญบิดเบี้ยวโค้งงอ ไม่เรียบตรงเหมือนอิฐมวลเบา

แต่ผนังอิฐมวลเบาจะทำอย่างนี้ได้ ตอนก่ออิฐมวลเบาช่างต้องทำด้วยความระมัดระวัง พิถีพิถันเป็นพิเศษ ปูนก่อที่เยิ้มทะลักล้นออกมาต้องปาดเช็ดให้ หมด รอยตะปุ่มตะปํ่าหลุมบิ่นแตกทั้งหลายต้องไม่มี ถ้ามีก็จัดการทำให้เรียบสวยเสียก่อนค่ะ

ส่วนคนที่รักชอบผนังฉาบปูน...ผนังก่อเสร็จก่อนจะลงมือฉาบ ควรที่จะฉีดน้ำล้างฝุ่นผงบนผนังเสียก่อน เพื่อปูนฉาบจะได้ เกาะจับผนังได้ดีมากขึ้น

ฉีดน้ำเสร็จทิ้งไว้ ให้แห้งพอหมาดๆ ถึงจะลงมือฉาบได้ และปูนที่ใช้ ต้องเป็นปูนสำหรับฉาบอิฐมวลเบาโดยเฉพาะเท่านั้น

จะเอาปูนผสมทรายอย่างที่ใช้ฉาบผนังอิฐมอญมาฉาบอิฐมวลเบาไม่ได้... เพราะไม่มีส่วนผสมของกาวที่ช่วยยึดจับอิฐมวลเบาค่ะ

เวลาฉาบ ต้องให้ช่างฉาบบาง...ฉาบ 2 ครั้ง ให้ ปูนฉาบมีความหนารวมกันไม่เกิน 1 ซม.

ฉาบหนาไป...ผนังปูนฉาบมักจะแตก ลายงาค่ะ.



rscelaw@yahoo.com

ปรับปรุงแก้ไข อาทิตย์, 28 พฤษภาคม 2549 08:16:05