สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและวิศวกรรม  รังสรรค์ วงษ์บุญ
Office of Law and Engineering Consultants
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.


    สัญญาการก่อสร้าง
ความหมายของสัญญาการก่อสร้าง  

วิวัฒน์ แสงเทียน และ คณะ [ 5 ] ได้ให้ความหมายของสัญญาการก่อสร้างเอาไว้ ดังนี้ คือ

สัญญาการก่อสร้างหมายถึง ความตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่ายโดยฝ่ายหนึ่งสัญญาว่าจะจัดหาบริการวัสดุ และทรัพยากรที่จำ
เป็นเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนด และอีกฝ่ายหนึ่งสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามที่ได้ดำเนินการ
ดังกล่าวแล้วเสร็จ

สัญญาการก่อสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้จะต้องประกอบด้วยหลักการพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญของการทำสัญญา 
ที่สำคัญก็คือคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ที่กฎหมายให้การรับรองว่าสามารถทำสัญญา
(LEGAL CAPACITY TO SIGN
 THE CONTRACT) แทนบริษัทของแต่ละฝ่ายได้

สัญญาที่ดีจะต้องมีเนื้อหาเด่นชัด สามารถปฏิบัติได้ และมีความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

แต่ในทางปฏิบัติมีสัญญาเป็นจำนวนมากที่ผู้ร่างสัญญาหรือเจ้าของงานมักจะเอาเปรียบผู้รับเหมาเสมอซึ่งคนทั่วไปถือว่าเป็น
เรื่องปกติ เพราะจะร้องไปก็ไม่มีประโยชน์และจะไม่ได้งานทำ  แต่มีข้อสังเกตคือ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศไทย
บริษัทผู้รับเหมามักจะได้เปรียบทางราชการเสมอ

เอกสารประกอบสัญญา (CONTRACT DOCUMENTS)
สัญญาการก่อสร้างโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญ คือ

หนังสือเชิญประกวดราคา (INVITATION TO BID)  จะระบุถึงความต้องการและกระบวนการในการเข้าประกวดราคา
 รายละเอียดและคำแนะนำสำหรับผู้เข้าประกวดราคา เป็นต้น

 แบบฟอร์มการประกวดราคา (BID FORM) จะประกอบไปด้วยข้อความและชื่อผุ้ยื่นซองประกวดราคา โดยจะระบุข้อ
ความ เช่น ผู้ประกวดราคาได้ตรวจสอบแบบรายละเอียดการควบคุมการก่อสร้างและสถานที่ก่อสร้างแล้ว  จำนวนเงินที่ยื่นซอง
ประกวดราคา จำนวนเงินค่าปรับจากงานล่าช้า ข้อความที่ระบุว่าผู้ประกวดราคาตกลงที่จะทำตามสัญญาหากชนะการประมูล
 ข้อความที่ผู้ชนะการประมูลตกลงที่จะยื่นเงินประกันการทำสัญญาและประกันการก่อสร้าง  จำนวนเงินเพิ่มหรือลดถ้าปริมาณ
งานเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาเดิม   เวลาที่ต้องทำงานให้แล้วเสร็จ เงื่อนไขเพิ่มเติมพิเศษ
(ถ้ามี) รายละเอียดจำนวนงานและ
เงินการประกวดราคา
(BID BREAKDOWN)  รายละเอียดของจำนวนงานและเงินจะต้องถูกบันทึกลงไว้ โดยผู้ประกวดราคาอาจ
จะแยกเป็นส่วน ๆ ในแต่ละรายการของโครงการเพื่อเป็นแนวทางในการคิดความก้าวหน้าของผลงานภายหลัง หากการเสนอ
ราคานั้นได้รับการยอมรับ

สัญญาการก่อสร้าง (CONSTRUCTION CONTRACT เจ้าของโครงการหรือเจ้าของงานจะต้องแนบตัวอย่างสัญญา
การก่อสร้างที่จะใช้บังคับ ผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องไปด้วยเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่จะเข้าประกวดราคาได้รู้ว่าเป็นสัญญาประเภทใด มี
ส่วนใดที่ยังสงสัยต้องการคำ
ธิบายเพิ่มเติมเป็นต้น  ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเข้าใจตรงกัน

เงื่อนไขทั่วไป (GENERAL CONDITIONS)  ปกติเป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดของข้อกำหนดในการก่อสร้าง
 
(SPECIFICATIONS)ซึ่งส่วนมากมักจะระบุถึงเงื่อนไขทั่วๆไปที่สามารถใช้ได้กับทุกสัญญาที่จะทำการจ้างเหมางานที่มี
ลักษณะงานประเภทเดียวกัน เช่น งานอาคารงานสร้างถนน งานสร้างเขื่อนเป็นต้น ซึ่งงานแต่ละชนิดแต่ละประเภทมักจะมี
เงื่อนไขหรือข้อกำหนดคล้ายกันหรือบางส่วนจะเหมือนกันก็มี

เงื่อนไขพิเศษ (SPECIAL CONDITIONS)   ข้อกำหนดนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการก่อสร้าง หรือ SPECIFICATION เช่น
เดียวกัน แต่จะเป็นการระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อใช้เฉพาะกับงานใดงานหนึ่งเป็นการเฉพาะหนึ่งเท่านั้น เช่น งานสร้างเขื่อนมักจะ
มีเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับการก่อสร้างร่องแกนเขื่อนเป็นการเฉพาะแยกออกมาจากเงื่อนไขทั่วไปอีกส่วนหนึ่ง  แต่งานที่เกี่ยว
ข้องกับการเทคอนกรีตมักจะเหมือนกับเงื่อนไขทั่วไป

 งานที่รวมอยู่ในสัญญา (WORK INCLUDED IN CONTRACT)  จะเป็นส่วนที่กำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นชัดเจนถึงงาน
ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแต่ละสัญญา
(อาจะมีหรือไม่มีก็ได้เช่น การเจรจาเช่าที่จากชาวบ้านเพื่อสร้างสำนักงานสนาม หรือ ค่าใช้
จ่ายในการไล่ชาวบ้านออกจากบริเวณที่จะทำการก่อสร้างใครจะเป็นคนจ่าย และจะนับเวลาเริ่มการก่อสร้างเมื่อใด เป็นต้น

       งานที่ไม่รวมอยู่ในสัญญา (WORK NOT INCLUDED IN CONTRACT)  ส่วนใหญ่จะเป็นงานพิเศษเฉพาะอย่างที่ไม่
เกิดขึ้นบ่อยนักในงานก่อสร้าง เช่น การไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ก่อสร้างให้เป็นภาระของผู้รับเหมาและจะนับระยะเวลาในการ
เจรจาต่อรองกับชาวบ้านรวมเป็นระยะเวลาการก่อสร้างเพื่อยืดระยะเวลาในสัญญาก่อสร้างออกไปไม่ได้ เป็นต้น

 รายละเอียดข้อกำหนดการก่อสร้างและแบบ (SPECIFICATIONS AND DRAWINGS) ส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับงาน
วิศวกรรมมากที่สุดเพราะจะแจ้งถึงข้อกำหนดความต้องการทางเทคนิคของสัญญา โดยระบุถึงขอบเขตขีดความต้องการและ
คุณภาพของงาน วิธีการก่อสร้างวิธีประกอบ วิธีตรวจสอบและตรวจรับงานเพื่อเบิกเงินงวด    เป็นต้น

รายการชี้แจงเพิ่มเติม (ADDENDA)  มักจะเป็นส่วนที่พบในภายหลังว่ามีความสำคัญต่อโครงการแต่ไมได้กล่าวไว้ใน
ส่วนอื่นๆจึงต้องมาเพิ่มเอาไว้ในส่วนนี้  ส่วนมากมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินหรือค่าใช้จ่ายของโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงว่า
ใครต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร เท่าใด

 รายการที่เจ้าของงานจะจัดหาให้ (OWNER-FURNISHED ITEMS)  จะเป็นส่วนที่แจ้งให้ทราบว่ามีงานใดบ้างที่เจ้า
ของโครงการจัดหาให้เอง  ผู้รับเหมาไม่ต้องเกี่ยวข้อง เช่น การสั่งวัสดุบางอย่างซึ่งจะมีส่วนลดถ้าเจ้าของโครงการจัดหาให้เอง
จะประหยัดไปได้มากสำหรับโครงการที่มีงบประมาณสูง         แต่จะมีข้อเสียคือบางครั้งของจะมาไม่ตรงเวลาที่ต้องการใช้
เจ้าของจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเองเป็นต้น

       แผนการก่อสร้าง (CONSTRUCTION SCHEDULE)  จะเป็นส่วนที่กำหนดให้ผู้รับเหมาต้องดำเนินการก่อสร้างตามขั้น
ตอนที่กำหนดคร่าว ๆ  แผนนี้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้ แต่จะต้องไม่เกิน
ระยะเวลาในสัญญา  นอกจากนี้ในแผนการก่อสร้างจะระบุด้วยว่าเมื่อใดจะส่งมอบงานส่วนใดบ้าง และ เมื่อใดจะเบิกเงินเท่าใด
 เป็นต้น

ประเภทของสัญญาการก่อสร้าง (TYPE OF CONSTRUCTION CONTRACT)

สัญญาการก่อสร้างมีหลายชนิด หลายประเภท แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของงาน แต่โดยทั่วๆไปแล้วสัญญาการก่อสร้างที่
ใช้ในทางราชการจะมีอยู่เพียงไม่กี่ประเภทแต่ละประเภทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไปตามประเภทของงานก่อสร้าง
 เช่น งานก่อสร้างสะพาน   งานก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ  งานก่อสร้างอาคาร  งานก่อสร้างถนน เป็นต้น

สัญญาการก่อสร้างที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทยบางประเภท 

                              สัญญาประเภทเหมารวม (LUMP SUM OR FIXED – PRICED CONTRACT)

               ลักษณะของสัญญาประเภทนี้นิยมใช้กันมาก คือ ผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดที่ระบุในสัญญาในวงเงินที่คง
ที่จำนวนหนึ่งส่วนระยะเวลาของการจ่ายเงินอาจจะแบ่งเป็นงวด ๆ ตามผลงานที่แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ ไปได้ รวมทั้งจำนวนเงิน
หักเก็บเอาไว้เพื่อประกันผลงานด้วย สัญญาประเภทนี้เหมาะกับงานที่เจ้าของงานมีแบบก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ผู้รับ
เหมาจะทำงานตามแบบที่ได้ออกไว้เรียบร้อยแล้วก่อนหน้าลงมือก่อสร้างจริง

               ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ก็คือ ทราบงบการดำเนินการแน่นอน  ได้งานครบถ้วนถูกต้องตามข้อกำหนดและแบบ 
 และสามารถตรวจสอบผลงานได้ง่าย

               ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ก็คือ เสียเวลารอให้แบบและข้อกำหนดเสร็จเรียบร้อย  การเปลี่ยนแปลงหรือปรับ
ปรุงแก้ไขแบบทำได้ลำบาก  ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบในการเสี่ยง ทำให้ราคาที่ตกลงอาจจะสูงกว่าที่ควรเป็น  การแบ่งงวด
จ่ายเงินตามผลงานที่แล้วเสร็จเป็นงวด ๆ นั้นทำได้ยากเพราะไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงที่ทำได้

                              สัญญาประเภทราคาต่อหน่วย (UNIT PRICE CONTRACT)

              จุดประสงค์ของสัญญาประเภทนี้ก็คือจะคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ทำได้จริงทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินเป็น
ไปโดยง่ายใกล้เคียงปริมาณงานที่ทำได้จริงมากที่สุด โดยที่ราคาต่อหน่วยจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่จำนวนหน่วยงานที่ทำได้อาจ
เปลี่ยนแปลงได้  

               ข้อที่ควรจะระวังของสัญญาการก่อสร้างประเภทนี้ก็คือ เกณฑ์การวัด (METHOD OF MEASUREMENT)ปริมาณ
งานที่ทำได้จริงในสนามจะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนก่อนที่จะทำสัญญากันว่าจะวัดอย่างไร เช่น การวัดปริมาณคอนกรีตที่ใช้
ต้องตกลงกันว่าจะวัดที่ใด จะวัดจากจำนวนที่รถส่งปูนมาส่งหรือจะวัดเฉพาะที่เทได้จริงเพราะปริมาณวัสดุที่ใช้จะไม่เท่ากัน 
เป็นต้น

               ข้อดีของสัญญาแบบราคาต่อหน่วยก็คือ สามารถเริ่มทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ปริมาณงานที่แน่นอน  การจ่าย
เงินคืนแก่ผู้รับจ้างจะใกล้เคียงกับผลงานที่ทำได้จริงการเพิ่มลดปริมาณงานทำได้ง่าย

               ส่วนข้อเสียของสัญญาแบบราคาต่อหน่วย คือ งบการดำเนินการอาจคลาดเคลื่อนได้  หากคำนวณปริมาณงานก่อน
ทำสัญญาผิดพลาด อาจมีผลทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่สมควร  และ หากรายการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ปรากฏใน
ตารางปริมาณและราคา ไม่ครอบคลุมครบถ้วนตามแบบ จะทำให้มีปัญหาในการตกลงราคากันใหม่ และต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมาก
ขึ้น  นอกจากนี้ยังจะเสียเวลาในการตรวจสอบผลงานที่ทำได้จริง อาจจะต้องใช้ผู้ควบคุมงานที่มีความรับผิดชอบสูงอีกด้วย

 สัญญาประเภทคิดค่าใช้จ่ายจริงบวกค่าป่วยการ (COST – PLUS FIXED FEE CONTRACT)

ลักษณะของสัญญาก่อสร้างประเภทนี้ก็คือผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดตามที่ระบุในสัญญา โดยจะเบิกเงินคืน
ตามที่ได้จ่ายไปจริงในระหว่างการก่อสร้าง บวกกับเงินค่าป่วยการที่คงที่อีกจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า   สัญญา
แบบนี้เหมาะกับงานที่เจ้าของงานต้องการให้งานเสร็จในเวลาอันสั้นในวงเงินที่จำกัดไว้

ข้อดีของสัญญาแบบนี้ก็คือ สามารถทำสัญญาหรือเริ่มงานได้โดยไม่ต้องมีแบบละเอียดที่สมบูรณ์ ผู้รับเหมาจะช่วย
ประหยัดทั้งเวลาและค่าก่อสร้างเพราะไม่ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าใดก็ตามจะได้ค่าป่วยการเท่าเดิม  ส่วนค่าดำเนินการที่ประหยัด
ได้จะเป็นของเข้าของงานทั้งหมด

            ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ก็คือ งบประมาณจะคลาดเคลื่อนมาก  เจ้าของงานต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเข้ม
งวดทุกขั้นตอนตั้งแต่การสั่งซื้อวัสดุ การเบิกจ่ายวัสดุไปใช้ วิธีการนำวัสดุไปใช้จะต้องประหยัดไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น 
นอกจากนี้ค่าก่อสร้างจะไม่ถูกใช้อย่างมีประโยชน์โดยแท้จริงเพราะผู้รับเหมาจะไม่ช่วยประหยัด ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้ที่มีความ
รับผิดชอบสูง ซื่อตรง ไม่หารายได้จากร้านค้าที่สั่งวัสดุ เช่น ถ้าสั่งของมากจะได้ส่วนแบ่งมาก เป็นต้น

สัญญาประเภทคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดบวกเงินเพิ่มพิเศษ(COST – PLUS WITH GUARANTEED MAXIMUM AND INCENTIVE)

     สัญญาก่อสร้างประเภทนี้ คือ ผู้รับเหมาตกลงที่จะทำงานทั้งหมดตามที่ระบุในสัญญาในวงเงินจำนวนหนึ่งก่อน แต่ผู้รับ
จ้างอาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง โดยไม่ทำให้เจ้าของงานเสียผลประโยชน์ ส่วนกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการเปลี่ยน
แปลงนั้น ต้องนำมาเฉลี่ยกันทั้งสองฝ่าย

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ ก็คือ สามารถทำสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องมีแบบรายละเอียดมากนักสามารถออกแบบไป สร้างไป แก้แบบไปด้วยก็ได้  เจ้าของงานมีสิทธิในการแก้ไขแบบมากขึ้นและตลอดเวลาในระหว่างการก่อสร้าง  เจ้าของ
งานและผู้รับเหมาไม่ต้องทะเลาะหรือโต้เถียงกันมากนัก

            ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ก็คือ เจ้าของงานต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเข้มงวดมิฉะนั้นงบประมาณจะบานปลาย
มาก  ค่าใช้จ่ายที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้ง 2ฝ่ายจะยุ่งยากในการตรวจสอบว่ามีทีมาอย่างไร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียง
ใด

             สัญญาประเภทมีรางวัลตอบแทนและเสียค่าปรับ (BONUS/PENALTY,TIME AND CONPLETION)

      ลักษณะของสัญญาประเภทนี้ก็คือจะกำหนดค่าก่อสร้างและเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าเสร็จก่อน
หรือหลังเวลาที่ตกลงกันไว้ จะมีการให้รางวัลตอบแทนหรือปรับแล้วแต่กรณี   และถ้าสามารถหาประโยชน์จากการที่เร่งงานให้
เสร็จเร็วขึ้นจะต้องนำผลประโยชน์ส่วนนั้นมาแบ่งกันด้วย    เป็นต้น

            ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ก็คือ เป็นการกระตุ้นให้ผู้รับเหมาทำงานโดยเร็วภายใต้การควบคุมที่ดีจะทำให้ประหยัด
เวลาในการออกแบบและก่อสร้างซึ่งอาจจะได้ใช้ประโยชน์เร็วขึ้น

ส่วนข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงานแตกต่างไปจากเดิมที่ตกลงกันไว้
อาจจะมีข้อถกเถียงเรื่องเวลาในการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

             สัญญาประเภทออกแบบ ก่อสร้าง และ จัดหาทุนให้ด้วย TURN KEY หรือ  DESIGN  AND  
CONSTRUCT  CONTRACT

ลักษณะของสัญญาประเภทนี้ คือ ผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ ก่อสร้าง และจัดหา
ทุนดำเนินการให้เองทั้งหมด แลกกับการได้รับสัมปทานสิ่งที่ก่อสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 ปี เป็นต้น สัญญาแบบ
นี้เหมาะกับโครงการของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลไม่มีเงินที่จะดำเนินการเองแต่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างเพื่อ
บริการประชาชน เช่น โครงการทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นต้น

ข้อดีของสัญญาประเภทนี้ ก็คือ สามารถเริ่มงานได้ทันที  รัฐไม่ต้องลงทุนก่อน  ประชาชนได้ประโยชน์จากการได้ใช้
งานเร็วขึ้น

            ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้ก็คือ มีราคาแพงมากเพระต้องเพิ่มค่าเสี่ยงภัยสูงมาก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตรา
ดอกเบี้ย สถานการณ์ทางการเมืองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

 
          สัญญาประเภทแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆหลายๆส่วน ( Divided Contract )

          
มักนำมาใช้กับงานก่อสร้างถนนซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นช่วงๆได้ แต่งานอาคารไม่ค่อยนิยมแม้ว่าในงานอาคารจะมี
ช่างหลากหลายประเภทมากกว่า

           ข้อดีของสัญญาแบบนี้ คือ สามารถตัดผู้รับเหมาหลักออกไปได้ ไม่ให้เอางานไปขายให้ผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง
ผู้รับเหมาแต่ละช่วงของสัญญาจะได้งบประมาณงานก่อสร้างเต็มตามสัญญา  ป้องกันการสมยอมราคากันได้อีกวิธีหนึ่ง บริษัท
เล็กๆสามารถเข้าแข่งขันประมูลงานแข่งกับบริษัทใหญ่ๆได้

           ข้อเสียของสัญญาประเภทนี้คือ มักจะมีปัญหาตรงรอยต่อของสัญญาแต่ละสัญญามักจะเกี่ยงกันว่าใครจะทำ เช่น
ตรงช่วงรอยต่อของถนนแต่ละช่วงมักจะมีปัญหาในการบดอัดเพราะจะไม่มีการบดอัดข้ามไปอีกสัญญาหนึ่งถ้าหากว่าตกลงกัน
ค่าใช้จ่ายกันไม่ได้  การควบคุมงานจะเหนื่อยมากเพราะต้องใช้คนควบคุมงานมากตามสัญญาในกรณีที่มีการก่อสร้างพร้อมกัน
 

 
 

 บรรณานุกรม

[ 1 ]      DAVID J. PRATT ,  FUNDAMENTALS OF CONSTRUCTION ESTIMATING, DELMAR PUBLISHERS, USA. 1995.

[ 2 ]      Akira hashimoto , Summary on Construction Cost , Land Consolidation Project , RID PRINTING , BANGKOK , 1989 .  

[ 3 ]      วินิจ ช่อวิเชียร, วิสุทธิ์  ช่อวิเชียร, การประมาณราคาก่อสร้าง , สำนักพิมพ์ ป. สัมพันธ์พาณิชย์ , กรุงเทพ, 2534.

[ 4 ]     แสวง ดาวัน, การประมาณราคางานก่อสร้าง , สำนักพิมพ์ ท. การพิมพ์ , กรุงเทพ, 2540.
[ 5 ]     วิวัฒน์  แสงเทียน, มนูญ นิจโภค, วิฑูรย์ เจียสกุล, การจัดการงานก่อสร้าง , สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,กรุงเทพ, 2527. 150 หน้า
เบญจรงค์  ศรีนุกูล, ตัวอย่างการประมาณราคาบ้านพักอาศัย คสล. สองชั้น ,  โครงการบ้านนภาวัลย์,กรุงเทพ ฯ , 2533.   
ธานินทร์  แพ่งสภา , ตัวอย่างการประมาณราคางานถมดิน , โครงการห้างสรรพสินค้า Carrefour, กรุงเทพ ฯ, 2536.
งานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง , ฝ่ายดัชนีการพาณิชย์ , กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า , ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ,  กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ , กระทรวงพาณิชย์ . 2540
 
 

 


rscelaw@yahoo.com

ปรับปรุงแก้ไข จันทร์, 26 ธันวาคม 2548 15:48:30