สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและวิศวกรรม  รังสรรค์ วงษ์บุญ
Office of Law and Engineering Consultants
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.
 
HOME Yes I Know 'who & why'

การทำให้บ้านเย็น
จากคอลัมน์ แม่ทองต่อ พ่อประหยัด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ปีที่ 57 ฉบับที่ 17665  วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2549
วิกฤติน้ำมันอะไรต่อมิอะไรล้วนแต่แพงขึ้น การสร้างบ้านในยุคนี้ คิดจะสร้างให้สวยเท่ ชวนมองอย่างเดียวไม่ได้

จะต้องคิดไปถึงสร้างยังไง บ้านของเราถึงจะอยู่ แล้วเย็นเป็นสุข บ้านไม่ร้อนไม่เปลืองแอร์ค่าไฟแพง และวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างในบ้านเย็นจะต้องไม่แพงจนเกินไป

วันก่อน “แม่ทองต่อ” มีโอกาสเจอ ดร.วรรณี เอกศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้รับผิดชอบ โครงการประกวดแบบอาคารพักอาศัยประหยัดพลังงาน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

เลยได้ความรู้...เทคนิคการสร้างบ้านเย็นในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปมาฝากค่ะ

ก่อนจะสร้างบ้าน สิ่งแรกที่เราควรรู้และจำให้ขึ้นใจ...หลักการสำคัญที่จะทำให้บ้านเย็นมีอยู่ ประการเดียว

ป้องกันไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ หลุดรอดแทรกซึมเข้ามาในบ้านเราได้ เท่านั้นเอง

ถ้าป้องกันได้...บ้านก็จะเย็นสบายได้ตามที่คุณต้องการ

ปกติดวงอาทิตย์จะส่งความร้อนเข้าบ้านเราได้ 2 ทาง...หลังคากับผนังบ้าน

ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เราได้บ้านอยู่แล้วเย็น จะต้องหาวิธีมาป้องกันไม่ให้ความร้อนผ่านเข้ามาจาก หลังคาและผนังบ้านให้ได้

นั่นคือ ต้องเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง ที่มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ หรือที่มีศัพท์เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า... ค่า K ที่มีหน่วยเป็น W/m ํc

เวลาจะเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้สร้างบ้าน คุณต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต ทำเป็นรู้ดีสักนิด สอบถามวัสดุที่นำมาทำเป็นผนัง มุงหลังคาบ้าน... มีค่า K เท่าไร

ดร.วรรณี บอกว่า วัสดุที่มีค่า K ยิ่งต่ำยิ่งดี...ยิ่งถ้ามีค่านำความร้อนต่ำกว่า 0.03 W/m ํc จะเริ่ดมาก ช่วยป้องกันความร้อนเข้าบ้านได้เป็นอย่างดี

แต่มีข้อเสีย วัสดุที่มีค่า K ต่ำกว่านี้...คนธรรมดาสู้ราคาไม่ไหว

อยากได้วัสดุสร้างบ้านเย็น ในราคาที่สู้ไหว มาว่ากันต่อเสาร์หน้าค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17672  วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2549

วันนี้มาต่อกันเรื่องสร้างบ้านอยู่เย็นเป็นสุข บ้านไม่ร้อนไม่เปลืองค่าไฟแอร์ ในแบบราคาค่าก่อสร้างไม่แพงเวอร์จนเกินไป

เพราะถ้าใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน ป้องกันความร้อนได้ดี อย่างวัสดุที่มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ หรือ ค่า K ต่ำกว่า 0.03 W/m ํc ค่าวัสดุจะตกตารางเมตรละพันกว่าบาท

ราคาขนาดนี้ ดร.วรรณี เอกศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้รับ ผิดชอบ โครงการประกวดแบบอาคารพักอาศัยประหยัดพลังงาน ซึ่งได้รับการสนับ สนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน บอกว่า คนธรรมดาสู้ราคา ไม่ไหว

ดร.วรรณี จึงแนะให้เลือกวัสดุอื่นแทน เลือกชนิดที่มีค่านำความร้อน หรือ ค่า K ต่ำกว่า 0.2 W/m ํc เพราะจะมีราคาถูกกว่า

มาพูดถึงวัสดุที่เหมาะนำมาใช้ทำเป็นผนังกันก่อนค่ะ

วัสดุจำพวก อิฐมอญ, อิฐบล็อก, ไม้เทียมที่ทำจากปูนซีเมนต์, กระเบื้องแผ่นเรียบ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เพราะนำความร้อนสูง

ส่วนวัสดุมีค่า K ต่ำกว่า 0.2 W/m ํc ได้แก่ ไม้, อิฐมวลเบา, ไฟเบอร์บอร์ด, ยิปซัมบอร์ด

จะเอาไม้จริงมาทำผนังก็ไม่ไหว...แพงไป ตกตารางเมตรละพันกว่าบาท

ที่สำคัญถ้าเป็นบ้านติดแอร์ ไม่ควรจะเอาไม้จริงทำผนังบ้าน เพราะบริเวณรอยต่อทับซ้อนของไม้แต่ละแผ่น จะมีรูให้อากาศเย็นของแอร์ รั่วไหลออก ทำให้เปลืองค่าไฟแอร์

และถ้าจะเอาพวกไฟเบอร์บอร์ด, ยิปซัมบอร์ด มาทำผนังภายนอก คนไทยไม่ค่อยชอบ กลัวผนังถูกกระแทกพังเป็นรูให้ขโมยเข้าบ้านได้ง่าย

ฉะนั้น ด้วยเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้างในปัจจุบัน ดร.วรรณีบอกว่า จึงไม่มีอะไรที่เหมาะเท่าเอาอิฐมวลเบามาก่อผนังค่ะ

เพราะราคาแพงไม่ต่างจากผนังก่ออิฐมอญมากนัก แต่ได้ผลลัพธ์ช่วยให้บ้านเย็นน่าอยู่ได้ มากกว่า.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17679 วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2549

ไม้, ไม้เทียม, ไฟเบอร์บอร์ด, ยิปซัมบอร์ด, อิฐมวลเบา, อิฐมอญ, อิฐบล็อก

วัสดุก่อสร้างผนังบ้านที่กล่าวมานี้ ดร.วรรณี เอกศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบราคาและ คุณสมบัติช่วยทำให้บ้านเย็นเพราะมีค่านำความร้อนต่ำ

อิฐมวลเบาเหมาะที่สุด...มีราคาที่คนธรรมดาพอสู้ไหว

ถึงอิฐมวลเบาจะกันความร้อนสู้พวกฉนวนราคาแพงไม่ได้ แต่จะให้บ้านเย็นมากขึ้น ความร้อนเข้าบ้านผ่านทางผนังได้น้อยลง

หลังคาบ้านควรออกแบบให้มีชายคายื่นยาวออกมาจากตัวบ้านประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อชายคาจะได้ทำหน้าที่บังแดด สร้างร่มเงาไม่ให้ผนังถูกแดดเผาค่ะ

ข้อคำนึงอีกอย่างในเรื่องผนัง ไม่เปลืองค่าไฟแอร์...บ้านน่าอยู่โดยไม่ต้องเปิดแอร์ ต้องมีหน้าต่างเพื่อให้ลมพัดเข้า

หน้าต่างที่จะเปิดรับลม ควรเป็นหน้าต่างที่เปิดออกไปแล้ว สามารถเปิดได้กว้างอ้าซ่า

ไม่ใช่เปิดไปได้แค่ 90 องศา ตั้งฉากกับผนัง... หน้าต่างอย่างนี้ไม่ดี มักจะบังทางลมเข้าบ้าน

 สิ่งที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือ ลมจะพัดเข้าบ้านได้ จะต้องมีช่องหน้าต่างให้ลมพัดเข้าและลมพัดออก

มีแต่ช่องหน้าต่างให้ลมพัดเข้า ไม่มีช่องหน้าต่างให้ลมพัดออก...ลมไม่พัดเข้าบ้านค่ะ

แต่ถ้าเป็นกรณีติดแอร์ สิ่งที่จะต้องคำนึงในเรื่องหน้าต่างก็คือ ควรออกแบบบ้านให้มีช่องประตูหน้าต่างน้อยที่สุด เพราะลมเย็นของแอร์มักจะไหลออกทางรูรั่วของประตูหน้าต่าง ทำให้เราเปลือง เงินค่าไฟค่ะ

และประตูหน้าต่างของห้องที่มีการเปิดแอร์ จะต้องเป็นหน้าต่างที่ปิดได้สนิท ไม่มีรูรั่ว...ประตูหน้าต่างต้องมีบังใบ

หน้าต่างแบบบานเกล็ด ปิดยังไงก็ไม่สนิท... ไม่เหมาะกับห้องแอร์ค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17686 วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2549

เคล็ดลับสร้างบ้านเย็น ผนังบ้านควรใช้ วัสดุอะไร “แม่ทองต่อ” บอกไปแล้ว

คราวนี้ถึงคิว “หลังคา” ตัวการสำคัญที่ทำให้ บ้านร้อน เพราะถูกแดดเผามากที่สุด

วัสดุหลังคาที่ทำให้บ้านเย็นได้ จะเป็นพวก จาก แฝก หญ้าคา...เพราะมีคุณสมบัติไม่นำความร้อน แต่มีข้อเสียไม่ทนทาน น้ำรั่วเข้าบ้านได้ แถมยังเสี่ยงไฟไหม้บ้าน จึงไม่เหมาะจะเอามามุงหลังคา

วัสดุที่ทนทานก็จะเป็นพวกกระเบื้อง ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา มีทั้งที่ทำจากปูน ซีเมนต์ เซรามิก โลหะ

แต่ไม่ว่าจะเลือกวัสดุตัวไหน มุงไปแล้วบ้านร้อนทั้งนั้น

แม้แต่วัสดุมุงหลังคาประเภทที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีความมันวาว สามารถสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ออกไปได้

กระเบื้องแบบนี้ราคาค่อนข้างสูง แม้จะมีคุณสมบัติที่ช่วยลดความร้อนได้ แต่ก็อย่าไปเชื่อให้มาก

ดร.วรรณี เอกศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า กระเบื้องแบบนี้จะช่วยให้บ้านเย็นได้ในระยะแรกเท่านั้น ใช้ไปนานๆ ฝุ่นควันในอากาศจะลอยมาจับเกาะ ความมันวาวของกระเบื้องจะหมอง ความสามารถในการสะท้อนความร้อนก็จะต่ำลง ทำให้เราได้ความเย็นไม่คุ้มค่ากระเบื้องแพง

ฉะนั้น วัสดุที่เหมาะจะนำมามุงหลังคาในราคาที่ไม่แพง ควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นแผ่นขนาดใหญ่ น้ำหนักเบา อย่างกระเบื้องซีเมนต์ ลอนลูกฟูก

กระเบื้องแบบนี้ถึงจะไม่ สวย ดูไม่หรูหรา แต่มุงด้วยกระเบื้องราคาเบาตัวนี้ โอกาสน้ำฝนจะรั่วเข้าบ้านมีน้อย น้ำหนักไม่มากช่วยเราประหยัดเงินค่าโครงหลังคาได้ค่ะ

ไม่เหมือนกระเบื้องแผ่นเล็กหรูหราราคาแพง โอกาส ฝนรั่วมีมากถ้าทรงของหลังคามีความลาดชันไม่พอ และยังต้องเปลืองเงินค่าโครงหลังคามากขึ้น เพราะกระเบื้องราคาแพงแต่ละแผ่น น้ำหนักมาก

แต่อย่างที่บอกไป กระเบื้องมุงหลังคาที่มีขายกันตอนนี้ ไม่ว่าจะถูกจะแพง มุงไปแล้วบ้านร้อนทั้งนั้น...ต้องทำยังไงบ้านถึงจะเย็น มาว่ากันต่อเสาร์หน้าค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17693 วันเสาร์ที่ 01 กรกฎาคม 2549

จะสร้างบ้านเย็นให้น่าอยู่ หลังคาสำคัญที่สุดเพราะเป็นส่วนที่ทำให้บ้านร้อนมากที่สุด

แต่วัสดุที่จะนำมามุงหลังคาให้บ้านเย็น ไม่ว่าจะใช้กระเบื้องทำจากวัสดุอะไร ราคาจะถูกจะแพงแค่ไหน... มุงไปแล้วบ้านร้อนทั้งนั้น เพราะถูกแดดเผาทั้งวัน

ฉะนั้น หนทางที่จะทำให้บ้านเย็น ไม่ให้ความร้อนจากแดดที่เผาหลังคาแทรกซึมเข้าบ้านได้ มีอยู่ 2 วิธี

วิธีแรก ดร.วรรณี เอกศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้รับผิดชอบ โครงการประกวดแบบอาคารพักอาศัยประหยัดพลังงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แนะนำให้ใช้ฉนวนกันความร้อน...เอามากั้นความร้อนจากหลังคาไม่ให้แผ่ลงมาในบ้าน

ฉนวนที่จะนำมาใช้ได้มีให้เลือกหลายแบบตั้งแต่ ใยแก้ว เยื่อกระดาษ โฟม ที่สามารถนำมาปูทับลงไปบนฝ้าเพดานใต้หลังคา

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้ฉนวนแบบไหน สิ่งที่ควรรู้ก็คือ ฉนวนจะต้องมีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ หรือ ค่า K ต่ำกว่า 0.03 W/m ํc ถึงจะป้องกันความร้อนได้ดีค่ะ

 ส่วนวัสดุประเภทที่เอาไปมุงไว้ใต้แผ่นกระเบื้อง ดร.วรรณีไม่อยากแนะนำ เพราะจะไม่ค่อยได้ผล ถ้าจะให้ได้ผลดี วัสดุนั้นต้องติดตั้งใต้ กระเบื้อง ให้ห่างจากตัวกระเบื้องมุงหลังคาอย่างน้อย 4 เซนติเมตร...นั่นก็คือต้องติดตั้งใต้จันทันหลังคาค่ะ

วิธีที่สอง หลังคาต้องออกแบบให้สามารถระบายความร้อนออกจากใต้หลังคาได้ โดยเปิดช่องให้ลมสามารถพัดผ่านใต้หลังคาได้

บ้านสมัยนี้อยู่ไม่เย็น ไม่เป็นสุข ก็แต่ละหลังไม่มีช่องระบายความร้อนใต้หลังคาเลย บางหลังอุตส่าห์ มีช่องบานเกล็ดตรงจั่วใต้หลังคา แต่ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะทำไว้ หลอกๆ เพื่อความสวยงาม ใช้ระบายความร้อนไม่ได้...บ้านมันถึงร้อน ไม่น่าอยู่เอาซะเลย

แต่ถ้าเราออกแบบหลังคา ให้มีช่องสามารถไล่ความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคา ไปให้พ้นจากบ้านได้สะดวก...บ้านจะน่าอยู่มากขึ้น และช่วยประหยัดเงินค่าไฟแอร์ค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17707 วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2549

ก่อนอื่น “แม่ทองต่อ” ต้องกราบขออภัยในความผิดพลาด ลงหมายเลขโทรศัพท์สำหรับผู้สนใจจะได้แบบแปลนสร้างบ้านเย็น

หมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกต้องของหน่วยลูกค้าสัมพันธ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน (พ.พ.) 0-2226-2310-1 ค่ะ

มาว่ากันต่อ ด้วยข่าวดีสำหรับคนที่มีบ้าน ในเขต กทม.และปริมณฑล หรือผู้ใช้โทรศัพท์ บ้านที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 02

ถ้าบ้านของท่านอยู่แล้วร้อน จ่ายค่าไฟมากกว่าหนึ่งพันบาทต่อเดือน ให้รีบยื่นใบสมัครเข้าโครงการบ้านรักษ์พลังงาน หรือโครงการนำร่องส่งเสริมบ้านพักอาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

เพราะโครงการนี้เขาจะเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงบ้านร้อนซดค่าไฟ...ให้กลายเป็นบ้านเย็น เพื่อเราจะได้จ่ายถูกลงกว่าเดิม เป็นการช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง

สมัครเข้าโครงการ ถ้าบ้านของท่านได้รับการอนุมัติ ทางการจะจ่ายเงินให้เปล่าเป็นค่าปรับปรุงบ้านให้ท่าน 30% ของค่าใช้จ่าย ในการปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน แต่ ไม่เกิน 50,000 บาท...เกินกว่านั้นท่านต้องออกเงินเองค่ะ

ข้อดีของโครงการนี้ ไม่เพียงจะมีคนมาช่วยออกเงินทำบ้านเย็นเท่านั้น เขายังมีบริการพิเศษที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ ไม่มีทางจะ ได้รับการบริการจากสถาปนิกหรือช่างรับเหมาทั่วไปค่ะ

เพราะก่อนจะเข้าไปปรับปรุงบ้านร้อนให้กลายเป็นบ้านเย็น สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการนี้ จะจัดส่งทีมงานสถาปนิกพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไปตรวจวัดสารพัดอย่าง ในบ้านของท่าน ตรวจวัดทั้งอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้แอร์ทำงานหนักและกินไฟ

เรียกว่าไม่ต่างกับตรวจคนไข้เลยค่ะ ตรวจดูรู้ให้แน่ บ้านของท่านเป็นไข้ ตัวร้อนมาจากสาเหตุใด ตรงไหนเป็นตัวการสร้างปัญหาเพื่อจะได้วินิจฉัยโรคถูก จ่ายยาได้ถูกกับโรค...สั่งซ่อมปรับปรุงได้ตรงกับปัญหา

ไม่ใช่ปรับปรุงบ้านแบบมั่วแล้วไม่ได้ผล... หยุดอาการบ้านกินไฟไม่ได้

สนใจโครงการนี้ รีบติดต่อไปที่ 0-2223-0021-9 ต่อ 1316, 1396 รีบสมัครก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม ...มิเช่นนั้นคุณจะเสียใจค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17714 วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2549

โครงการซ่อมบ้านร้อนให้กลายเป็นบ้าน เย็นเพื่อช่วยประหยัดค่าไฟแอร์ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แม้จะให้บริการสำหรับคนที่มีบ้านในเขต กทม.และปริมณฑล

คนที่มีบ้านอยู่ในต่างจังหวัด ไม่ต้องน้อยใจ “แม่ทองต่อ” มีเทคนิคปรับบ้านร้อนให้กลายเป็นบ้านเย็นมาฝากค่ะ

จะซ่อมปรับปรุงบ้านเก่าที่ร้อนให้กลายเป็นบ้านเย็นไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ

เพราะตัวการหลัก ที่ทำให้บ้านร้อน ไม่น่าอยู่ แถมยังซดค่าไฟแอร์ มีอยู่ 2 ส่วนเท่านั้นเอง... แก้ปัญหาบ้านร้อนที่มาจากผนังกับความร้อนที่มาจากหลังคา

มาว่าเรื่องแก้ปัญหาผนังบ้านร้อนก่อนค่ะ

ผนังบ้านร้อน เป็นตัวการที่ทำให้ซดค่าไฟ แอร์ ก็เพราะกว่าแอร์จะปรับอุณหภูมิให้เย็น แอร์ ไม่เพียงจะต้องทำงานดูดอากาศซับร้อนจากห้องเอาไปทิ้งเท่านั้น

แอร์ยังต้องทำงานดูดซับความร้อนที่สะสมอยู่บนผนังไปทิ้งด้วย...ห้องมันถึงจะเย็น

แอร์เลยต้องเหนื่อย 2 เด้ง...ซดค่าไฟมากกว่าบ้านที่มีผนังเย็น

ถ้าบ้านของคุณเป็นบ้านก่ออิฐฉาบปูน... ไม่ว่าจะเป็นอิฐมอญ หรืออิฐบล็อก จงรู้ไว้ว่า ผนังชนิดนี้ถูกแดดแผดเผาแล้วจะร้อน ไม่เชื่อกลับบ้านไปตอนเย็น แดดหมดไปแล้ว เอามือไปจับผนังด้านในบ้านดูซิคะ

3-4 ทุ่ม ผนังก็ยังอุ่นอยู่เลย...คิดดูแอร์จะต้องทำงานซดค่าไฟแค่ไหน

ยิ่งผนังด้านที่หันไปทางทิศใต้กับทิศตะวันตก จะยิ่งร้อนกว่าทิศอื่น เพราะเป็นทิศที่แดดแรงที่สุด

ฉะนั้น  จะปรับปรุงผนังบ้านให้เย็นในแบบประหยัดเงิน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องซ่อมปรับปรุงผนังรอบบ้านให้เปลืองเงิน...เลือกซ่อมปรับปรุงผนังเฉพาะด้านที่ถูกแดดเผามากที่สุด

การปรับผนังบ้านร้อนให้กลายเป็นผนังเย็นมี 2 วิธีค่ะ คือ ปรับปรุงผนังภายนอก กับ ภายในบ้าน

บ้านเราจะเลือกใช้วิธีไหน ปรับปรุงยังไงมาว่ากันต่อคราวหน้าค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17721 วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2549

บ้านอยู่แล้วร้อน ซดค่าไฟแอร์ ส่วนใหญ่ จะเป็นบ้านก่ออิฐฉาบปูน ไม่ว่าจะก่อด้วยอิฐมอญ หรืออิฐบล็อก...ร้อนทั้งนั้น

เพราะถูกแดดเผา ผนังชนิดนี้จะนำความร้อนได้ดี และเก็บสะสมความร้อนได้เป็นเลิศอีกด้วย ตกค่ำ แล้วบ้านก็ยังร้อน

ครั้นจะทำให้บ้านร้อนกลายเป็นบ้านเย็น ด้วยการจะทุบผนังเก่าทิ้ง สร้างผนังใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนเพื่อช่วยให้บ้านเย็น มันไม่สนุกค่ะ

ไม่สนุกทั้งกระเป๋าเงิน ทั้งการหาที่อยู่ชั่วคราวระหว่างทุบทิ้งสร้างใหม่

แต่มีวิธีที่ประหยัดเงินได้มากกว่า...หาฉนวนกันความร้อนมาบุปิดทับผนังบ้าน

ฉนวนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะ นำ...โฟม polystylyn ซึ่งมีสารป้องกันไฟลามค่ะ

โฟมกันความร้อนได้ดี แต่จะเอามากันความร้อนให้บ้านเย็นได้นั้น จะต้องมีความหนาตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป...ยิ่งหนายิ่งดี แต่จะยิ่งแพง

การบุโฟมกับผนังมี 2 วิธีให้เลือก บุจากภายนอก หรือบุภายในบ้าน

จะใช้วิธีไหน ขึ้นอยู่กับสภาพของบ้านว่า ทำแบบไหนได้

ถ้าภายในบ้านมีการตบแต่งแบบ build-in เฟอร์นิเจอร์ถูกแปะติดตายอยู่กับผนัง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้...ต้องเลือกใช้วิธีบุโฟมจากภายนอก

แต่ถ้าเฟอร์นิเจอร์สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่ติดตายอยู่กับผนัง...ก็น่าจะเลือกใช้วิธีบุโฟมจากภายในบ้าน เพราะค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า

เนื่องจากการบุโฟมติดผนังไม่ว่าจากภายนอกหรือภายในบ้าน วิธีการจะเหมือนกัน นั่นก็คือ ต้องมีขึ้นโครงเป็นช่องๆไปบนฝาผนังปูน เมื่อใส่โฟมไปในช่องระหว่างโครงแล้ว จะต้องนำวัสดุอย่างอื่นมาปิดทับผิวหน้าโฟมอีกที

วัสดุปิดทับผิวหน้าโฟมนี่แหละ ทำให้ราคาต่างกัน...ถ้าบุโฟม จากภายนอก วัสดุปิดทับจะต้องมีคุณสมบัติทนน้ำ-ทนฝน-ทนแดด

ไม่เหมือนบุโฟมจากภายใน วัสดุปิดทับผิวโฟมไม่จำเป็นต้องทนทานมากนัก...แค่ยิปซัมแผ่นเรียบก็พอเพียงแล้ว

และจะให้ประหยัดยิ่งขึ้นไม่ต้องทำทั้งหลัง ให้เลือกบุโฟมกับผนังด้านทิศใต้ กับทิศตะวันตกก็พอ...เพราะเป็นทิศที่ทำให้แดดแรง ทำให้บ้านร้อนมากที่สุดค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17728 วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2549

ผนังอีกจุดหนึ่งที่เป็นตัวการทำบ้านร้อนซดค่าไฟแอร์ นั่นก็คือ...หน้าต่างกระจก

แสงแดดที่ส่องผ่านทะลุกระจกเข้ามาทำให้ อุณหภูมิในบ้านสูง แอร์ต้องทำงานหนัก...ครั้นจะแก้ปัญหาด้วยการเอาโฟมบุปิดทับหน้าต่าง เหมือน กับแก้ปัญหาผนังอิฐฉาบปูน ก็ใช่ที่

ถึงจะช่วยให้บ้านเย็น ประหยัดค่าไฟแอร์ได้ ก็จริง แต่จะมีปัญหาทำให้เราต้องเปลืองเงินค่าไฟ แสงสว่าง เพราะเอาโฟมมาบุปิดทับหน้าต่าง บ้านก็ต้อง มืด กลางวันต้องเปิดไฟ

ที่สำคัญทำให้ประ-โยชน์ของหน้าต่างหมดไปค่ะ

ก็หน้าต่างนั้นมีไว้ เพื่อชมวิว เปิดระบายอากาศ รวมทั้งให้แสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามาในบ้าน ลดการเปิดไฟฟ้าแสงสว่างในตอนกลางวัน

ฉะนั้น จะแก้ปัญหาหน้าต่างกระจกทำให้บ้านร้อน มีวิธีคิดง่ายๆ...

ทำยังไงก็ได้ให้ความร้อนจากแดดทะลุผ่านกระจกเข้ามาในบ้านได้น้อยที่สุด โดยที่ประโยชน์อย่างอื่นของหน้าต่างยังคงเหมือนเดิม

วิธีแรกที่จะแนะนำนั่นก็คือ เปลี่ยนกระจกหน้าต่าง

จากกระจกธรรมดาที่ทำให้บ้านร้อน เปลี่ยนมาใช้กระจกที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนเป็นกระจก 2 ชั้น เรียกกันว่า “กระจกฮีตสต็อป” แปลเป็นไทยตรงตัว...กระจกหยุดร้อน

ใช้กระจกตัวนี้ลดความร้อนเข้าบ้านได้แน่... แต่มีข้อเสียค่าใช้จ่าย จะแพงมาก

ในเมื่อวิธีนี้มีค่าใช้ จ่ายสูง หลายคนอาจจะถามว่า จะเสียค่าใช้จ่ายให้ถูก กว่านั้น เอาฟิล์มกันความร้อนมาปิดทับลงไปบนกระจก เหมือนติดฟิล์มกระจกรถยนต์ได้หรือเปล่า

คำตอบก็คือได้...ช่วยลดความร้อนที่จะทะลุผ่านกระจกเข้าบ้านได้

แต่จะไม่ช่วยลดค่าไฟแอร์หรอกค่ะ ...ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื้อที่หมดมาว่ากันต่อเสาร์หน้าค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17735 วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2549

หน้าต่างกระจกทำให้บ้านร้อน เพราะแดดสามารถส่องทะลุเข้ามาในบ้านได้ ครั้นจะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนกระจกธรรมดา มาใช้กระจกฮีตสต๊อปแทน...ค่าใช้จ่ายแพง

เพื่อค่าใช้จ่ายในการทำบ้านเย็นจะได้ถูกลง...เอาฟิล์มกันความร้อนมาติดกระจก หน้าต่างเหมือนติดฟิล์มกระจกรถยนต์ได้หรือไม่

คำตอบก็คือ...ช่วยลดความร้อนที่ทะลุผ่านกระจกเข้าบ้านได้

แต่ไม่ช่วยลดค่าไฟแอร์ หรอกค่ะ

หลายคนอาจจะสงสัยมันทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเล่า

ผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาบ้านร้อนจาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรับผิดชอบโครงการบ้านรักษ์พลังงาน ให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บอกกับ “แม่ทองต่อ” ว่า...

กระจกใสๆ ที่แดดและความร้อนทะลุเข้าบ้านได้ ลองเอามือไปสัมผัสจับกระจกดูซิคะ...กระจกจะเย็นไม่ค่อยร้อน

เพราะความร้อนทะลุผ่านเข้าไปได้ ไม่มีความร้อนสะสมที่กระจกหน้าต่าง

แต่พอเราเอาฟิล์มกันความร้อนมาติด...ปัญหาจะกลับตาลปัตรสลับที่กัน เหมือนอย่างที่เขาชอบพูดว่า แก้ปัญหาอย่างหนึ่งได้ แต่จะมีปัญหาอีกอย่างเกิดขึ้นมาแทน

กระจกใสๆ ติดฟิล์มกันความร้อน...ความร้อนทะลุเข้าไปไม่ได้ อากาศในห้อง ในบ้านไม่ร้อน

แต่ความร้อนที่ทะลุผ่านกระจกเข้าไปไม่ได้ จะออสะสมอยู่ที่แผ่นกระจกแทน

เมื่อกระจกร้อน สิ่งที่ตามมาเมื่อเราเปิดแอร์ แอร์จะทำงานให้ ห้องเย็นฉ่ำได้ แอร์ต้องดูดอากาศร้อนในห้องไปทิ้ง พร้อมกับดูดความร้อนที่สะสมอยู่บนผิวกระจกไปทิ้งด้วยเช่นกัน... ด้วยเหตุนี้กระจกติดฟิล์มเลยซดค่าไฟแอร์

กระจกสีกรองแสง กรองความร้อน ก็มีปัญหาเหมือนกระจกติดฟิล์มค่ะ

แต่ไม่ต้องห่วง คราวหน้า “แม่ทองต่อ” มีวิธีแก้ปัญหากระจกหน้าต่างทำบ้านร้อน ในแบบไม่แพงจนเกินไปค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17742 วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2549

มาว่ากันต่อถึงวิธีแก้ปัญหากระจกหน้าต่างทำบ้านร้อน ซดค่าไฟแอร์ ในแบบประหยัด ค่าใช้จ่ายไม่แพงจนเกินไปค่ะ

นั่นคือ...ทำกันสาดขึ้นมาบังแดดไม่ให้ ส่องเข้าบ้าน

และถ้าเป็นกันสาดผ้าใบ ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าใช้วัสดุอย่างอื่น

กันสาดที่ทำขึ้นมา จะช่วยลดความร้อนทำให้บ้านเย็นได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำกันสาดให้ยื่นออกมาจากตัวบ้านมากแค่ไหน

ยื่นออกมามาก ลดความร้อนได้มาก...ยื่นออกมาน้อย ลดความร้อนได้น้อย

แต่ยื่นออกมามาก นอกจากจะเสียเงินมากแล้ว ยังจะทำให้บ้านมืดต้องเปิดไฟตอนกลางวัน เปลืองค่าไฟฟ้าแสงสว่าง

ฉะนั้นต้องพอดี...ทำกันสาดให้ยื่นออกมาเท่ากับความสูงของหน้าต่าง

หน้าต่างสูง 1.20 ม. กันสาดก็ควรจะยื่นออกมาจากผนังประมาณ 1.20-1.50 ม. แต่ถ้าหน้าต่างสูงกว่านั้น กันสาดต้องยื่นออกไปมากกว่านั้นค่ะ

ส่วนผนังบ้านที่เป็นอิฐฉาบปูนรอบๆ ช่องวงกบหน้าต่าง ยังจะต้องบุโฟม polystylyn หนา 2 นิ้ว เหมือนที่ “แม่ทองต่อ” ได้เคยบอกไว้ในตอนผนังบ้านร้อน (2)

หลายคนอาจสงสัยทำกันสาดขึ้นมาเป็นเงาบังผนังให้บ้านเย็นไว้หมดแล้ว ผนังอิฐฉาบปูนไม่เห็นจำเป็นจะต้องบุโฟมอีก

เข้าใจอย่างนั้นนะถูกแล้ว...แต่ถูกไม่หมด

เนื่องจากตัวการที่ทำให้บ้านร้อนไม่ได้มาจากแดดอย่างเดียว... ยังมีความร้อนอีกแบบหนึ่งที่มาในรูปของคลื่นรังสีความร้อน

คลื่นรังสีนี้ไม่ต้องมีแดด มันสามารถทำให้ผนังบ้านร้อนได้ และกันสาดนั้นช่วยกันความร้อนที่มากับแดดได้เท่านั้น...กันความร้อนที่มาเป็นคลื่นรังสีไม่ได้

ฉะนั้นเพื่อให้ได้ผนังบ้านเย็นที่สมบูรณ์...ผนังอิฐฉาบปูนจึงต้องบุโฟมด้วยค่ะ

เพื่อความประหยัด ทั้งกันสาดและผนังบุโฟม ให้ทำเฉพาะด้านทิศใต้กับทิศตะวันตกก็พอค่ะ เพราะเป็นทิศที่ทำให้บ้านร้อนมากที่สุดค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17749 วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2549

จบเรื่องผนังบ้านร้อน...มาต่อกันด้วยบ้านร้อนเพราะหลังคาค่ะ

หลังคาเป็นตัวการสร้างปัญหาบ้านร้อน ซดค่าไฟแอร์ได้มากที่สุด เพราะเป็นส่วนที่ถูกแดดเผาทั้งวัน

ยิ่งถ้าเป็นบ้านที่ออกแบบและสร้าง ไม่มีช่องระบายความร้อนใต้หลังคาล่ะก็ ห้องที่อยู่ใต้ฝ้าเพดานหลังคาจะร้อนเหมือนเตาอบ...จนกลางวันอยู่ไม่ได้เลย

สถาปนิกแก้ปัญหาบ้านร้อนจาก สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรับผิดชอบโครงการบ้านรักษ์พลังงานให้ กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน บอกว่า...

ทั้งที่อุณหภูมิภายนอกบ้านอยู่ที่ 35 ํC แต่เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิที่ฝ้าเพดานพบว่า ร้อนถึง 47-48 ํC เลยทีเดียว

ฝ้าเพดานร้อนขนาดนี้จะทำให้ห้องร้อนได้ขนาดไหน และเมื่อเปิดแอร์แล้วกว่าห้องจะเย็นได้...แอร์ต้องทำงานหนักซดค่าไฟแค่ไหน ในการทำให้ฝ้าเพดานเย็นลงมา

และบ้านในเมืองไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาแบบนี้ทั้งนั้น พื้นที่ใต้หลังคาเหนือฝ้าเพดานไม่มีช่องระบายอากาศ ความร้อนเลยสะสมอยู่บนฝ้ามาก

แต่จะแก้ปัญหาด้วยการทำช่องระบายอากาศขึ้นมา บ้านเก่า บ้านที่สร้างเสร็จแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะใต้หลังคาไม่มีพื้นที่พอจะให้ช่างขึ้นไปยืนเหยียบทำงานได้เลย

หนทางที่พอจะทำได้ในทางปฏิบัติ... หาฉนวนมาวางปูทับบนฝ้าเพดานกันความร้อนจากหลังคาไม่ให้ เข้ามาในตัวบ้าน

ฉนวนที่เหมาะจะนำมาใช้ ได้แก่ ฉนวนสารพัดใยที่บรรจุอยู่ในถุงฟอยล์คล้ายผ้านวมสีเงินนั่นแหละ รวมทั้งแผ่นโฟม polystylyn ที่ “แม่ทองต่อ” ได้แนะให้มาทำเป็นฉนวนกันความร้อนให้กับผนังนั่นแหละ

แต่ฉนวนที่จะนำมาใช้กันความร้อนจากหลังคา ต้องมีความหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว และถ้าให้ดีที่สุด ฉนวนต้องหนา 6 นิ้วค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17756 วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549

แก้ปัญหาบ้านร้อนจากหลังคา เอาฉนวนปูทับไปบนฝ้าเพดาน แม้จะช่วยกันความร้อนจากหลังคาไม่ให้แผ่ลงมาในบ้านได้ก็ตาม... แต่ก็ยังช่วยให้บ้านเย็นได้ไม่เต็มร้อย

เนื่องจากบ้านเราแดดแรงจัด หลังคาถูกแดดเผาทั้งวัน ใต้หลังคาจึงมีความร้อนสะสมอยู่มาก ถ้ามีมากล้นก็จะเกินความสามารถที่ฉนวนจะกั้นได้ ความร้อนยังสามารถแผ่เข้ามาในบ้านได้อีก

เพื่อไม่ให้มีความร้อนส่วนเกินอยู่ใต้หลังคามาก การออกแบบบ้านในประเทศไทย จึงจำเป็นจะต้องมีช่องระบายความร้อนออกไปจากใต้หลังคา ได้ด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระในการกั้นความร้อนให้กับฉนวน

แต่บ้านเก่านั้น ทำยาก ด้วยอุปสรรคที่ “แม่ทองต่อ” ได้บอกไปแล้ว บ้านสร้างเสร็จแล้ว ใต้หลังคาไม่มีพื้นที่จะให้ช่างขึ้นไปยืนเหยียบทำอะไรได้...ไม่เหมือนบ้านที่กำลังก่อสร้าง

แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ...ปัจจุบันนี้ บ้านเก่าก็มีหนทางทำได้แล้ว

ถอดกระเบื้องมุงหลังคาบางแผ่นออกไป แล้วเอาแผ่นหลังคาระบายอากาศ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกระเบื้องมุงหลังคาเสียบลงไปแทน

ทำได้ง่ายพอๆ กับเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคานั่นแหละ

แผ่นหลังคาระบายอากาศตัวนี้ ในบ้านเราอาจจะเป็นของใหม่...แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา เขาใช้กันมานานร่วม 17 ปีแล้วค่ะ

เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ผลงาน การคิดค้นของ นายแฮรี่ โอ เฮกิ้น ชาวอเมริกัน ที่เข้ามาตั้งบริษัท แคลิฟอร์เนีย รูฟฟิง คอมโม เน็นส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายแผ่นหลังคาตัวนี้ในบ้านเรา

ติดแผ่นหลังคาตัวนี้ไปแล้วจะช่วยลดความร้อนจากหลังคาที่แผ่ลงมาในบ้านได้

แต่หลายคนจะไม่เชื่อและสงสัย อเมริกากับบ้านเราอากาศไม่เหมือนกัน บ้านเขาหนาว มีหิมะตก จะใช้กระเบื้องระบายอากาศระบายความร้อนทำไมกัน

เอามาใช้บ้านเราจะได้ผลหรือ...คราวหน้ามาว่ากันต่อค่ะ.


ปีที่ 57 ฉบับที่ 17798 วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2549

ฉาบผนังด้วยปูนยิปซัม เป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เจ้าของบ้านได้ผนังที่เนียนเรียบสวย หมดปัญหาผนังแตกลายงา

แต่การฉาบผนังด้วยปูนยิปซัม ยังมีปัญหาเรื่องผนังจะสวยเนียนเรียบเริดได้ เรายังต้องพึ่งฝีมือในการฉาบปูนของช่างอยู่ดี

ถ้าเจอช่างปูนประเภทช่างเถอะ ต่อให้ซื้อปูนยิปซัมดีเริดขนาดไหนมาใช้...ฉาบออกมาผนังจะไม่สวยอยู่ดี ผนังมีรอยคลื่น โค้งโป่งนูนในบางจุดให้ เห็นได้

ฉะนั้นถ้าอยากจะได้ผนังสวยแบบไม่ต้องพึ่งฝีมือช่างปูนมาก

ต้องใช้อีกวิธี เอาแผ่นยิปซัมบอร์ดกรุปิดทับไปบนผนังอิฐก่อ

ด้วยการเอาปูนกาวมาป้ายเป็นแถวแนวยาวไปบนผนังอิฐ ให้แนวปูนกาวห่างกันประมาณ 40 ซม. สำหรับแผ่นยิปซัมขนาดหนา 9 มม. และห่างกัน 60 ซม. สำหรับแผ่นยิปซัมขนาดหนา 12 ซม.

จากนั้นก็เอาแผ่นยิปซัมบอร์ดกรุปิดทับลงไปบนปูนกาว

แต่การติดตั้งผนังกรุยิปซัม มีข้อควรระวังไว้ อย่าให้แผ่นยิปซัมวางติดกับพื้นบ้าน... ขอบด้านล่างของแผ่นยิปซัมจะต้องสูงห่างจากพื้นประมาณ 1 ซม. เพื่อป้องกันความชื้นจากพื้นซึมเข้าบนแผ่นยิปซัมค่ะ

รอยห่าง 1 ซม. นั้นไม่ต้องห่วง เพราะเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะมีบัวมาปิดทับไม่มีรอยโป๊ให้เห็น

ทำเพียงแค่นี้ เมื่อทาสีทับ คุณก็จะได้ ผนังที่เนียนเรียบสวย ไม่มีรอยแตกลายงาให้เห็นอย่างแน่นอน

แต่ราคาจะแพงกว่าฉาบด้วยปูนซีเมนต์เกือบเท่าตัว ไม่เหมือนฉาบด้วยปูนยิปซัมที่ผู้เชี่ยวชาญบริษัท BPB ผู้ผลิตและจำหน่ายยิปซัมยักษ์ใหญ่ของโลก คำนวณราคาค่าแรง+ค่าวัสดุแล้ว จะแพงกว่าฉาบด้วยปูนซีเมนต์ประมาณ 20 บาทต่อตารางเมตร

กระนั้นก็ตาม การกรุผนังด้วยยิปซัมนอก จากจะทำให้ได้ผนังสวยแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าแรงช่างได้ด้วย เพราะใช้เวลาแค่ครึ่งเดียวของการฉาบผนังด้วยปูนซีเมนต์ค่ะ.


 

   
   

rangsonw@gmail.com

   
Use examples to explain your points, always backup a comment with a fact.
         
    ปรับปรุงแก้ไข เสาร์, 14 ตุลาคม 2549 09:26:17